ไทยครองอันดับ 4 โลก ธุรกรรมชำระเงินเรียลไทม์

22 เม.ย. 2564 | 09:30 น.

เอซีไอ เวิลด์ไวด์ เผยผลการศึกษาล่าสุด ชี้ธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ในไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2563 ครองอันดับ 4 ของโลก ตามหลังอินเดีย จีน และเกาหลีใต้ ระบุการแพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งให้มีการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

รายงานระดับโลกฉบับล่าสุดจากเอซีไอ เวิลด์ไวด์ (ACI Worldwide) และโกลบอลดาต้า ระบุว่า มีการประมวลผลธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time Payment) กว่า 5.24 พันล้านรายการในประเทศไทยในช่วงปี 2563 เพิ่มขึ้น 104% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (2.57 พันล้านรายการ) ทั้งนี้เนื่องจากสถาน การณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนวิธีการชำระเงินจากการใช้เงินสดไปสู่การชำระเงินแบบเรียลไทม์ผ่านระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่าการชำระเงินแบบเรียลไทม์ในไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 32.01% สำหรับช่วงปี 2563 ถึง 2568 ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทั่วโลก (23.6%)

การชำระเงินแบบเรียลไทม์ในไทยมีการเติบโตแบบปีต่อปีสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งโดยมากแล้วเป็นผลมาจากการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านการเงิน โดยนำเสนอสิทธิประโยชน์ทางการเงินที่หลากหลายให้แก่ประชาชนผ่านระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัว “พร้อมเพย์” (PromptPay) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ของไทย เมื่อปี 2559 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) มีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการจากรัฐบาล และในช่วงที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่ประชาชนและองค์กรธุรกิจ

 

ไทยครองอันดับ 4 โลก ธุรกรรมชำระเงินเรียลไทม์

 

เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิต รวมถึงการซื้อสินค้า/บริการ และการชำระเงิน ดังนั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว การปรับใช้โมบายล์วอลเล็ท (Mobile Wallet) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 83.9% ในช่วงปี 2563 เปรียบเทียบกับ 72.6% ในปี 2562

สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคและแนวทางการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ธนาคาร ผู้ค้า และคน กลางในระบบนิเวศน์การชำระเงินในไทยต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปลี่ยนย้ายไปใช้ระบบดิจิทัลเพื่อรักษาช่องทางรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งมองหาช่องทางใหม่ๆ ผ่านการให้บริการลูกค้าผ่านระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

 

นายเจเรมี่ วิลมอท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเอซีไอ เวิลด์ไวด์ กล่าวแสดงความเห็นว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดตอกยํ้าถึงความสำคัญของระบบชำระเงินดิจิทัล รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินที่แข็งแกร่ง นับเป็นการย่นย่อการปรับใช้นวัตกรรมที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 10 ปีให้เหลือเพียงปีเดียว และทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร แม้กระทั่งหลังจากที่วิกฤติิผ่านพ้นไป ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินดิจิทัลที่แข็งแกร่งจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีกว่าประเทศที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการควบคุมผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกรณีการแพร่ระบาด ระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ช่วยให้ภาครัฐเร่งการเบิกจ่ายเงินเยียวยาและเงินกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงมือประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังรองรับการเพิ่มสภาพคล่องแบบเรียลไทม์ให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับระบบซัพพลายเชนที่หยุดชะงัก”

 

ขณะที่ซามูเอล เมอร์แรนท์ หัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่ายระบบชำระเงินของโกลบอลดาต้า กล่าวว่า “การชำระเงินแบบเรียลไทม์ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นทั่วโลก และโดยมากแล้ว หลายประเทศมุ่งเน้นการใช้งานในส่วนของการชำระเงินระหว่างบุคคล (P2P) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การ แพร่ระบาดเปิดโอกาสให้รูปแบบการชำระเงินดังกล่าวมีการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากที่ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับความรวดเร็วฉับไวของการชำระเงิน P2P แบบเรียลไทม์ ผู้บริโภคก็จะหันไปใช้การชำระเงินแบบเรียลไทม์กับธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซ แทนการใช้บัตรชำระเงินทางออนไลน์ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานานกว่า จากจุดนี้ เมื่อผู้บริโภคให้การยอมรับต่อแบรนด์ที่ใช้ระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์อย่างกว้างขวาง และมีฐานผู้ใช้มากพอที่จะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ขายได้คุ้มค่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะใช้ระบบดังกล่าวชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการภายในห้างร้านต่างๆ”

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,672 หน้า 16 วันที่ 22 - 24 เมษายน 2564