‘เฟซบุ๊ก’ เปิด 5 เทรนด์ เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้บริโภค

17 เม.ย. 2564 | 20:35 น.

“เฟซบุ๊ก” เปิด 5 เทรนด์สำคัญ หลังโควิดเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้บริโภค ชี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำกระแสความนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก

นางสาวแพร ดํารงค์มงคลกุล ผู้อำนวยการ Facebook ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนสถานการณ์โควิด-19 คาดการณ์ว่าการปรับตัวในเรื่องของดิจิทัลนั้นจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปี แต่ในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า การปรับตัวหรือการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่เดือน ผู้บริโภคเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็ว หลายธุรกิจต่างกำลังปรับตัวเพื่อยังรักษาการเข้าถึงและการเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย จะเห็นว่าปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้นำด้านต่างๆ ที่มีการขับเคลื่อนกระแสหรือความนิยมของผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเทรนด์ หลักที่สำคัญทั่วโลก ประกอบด้วย 5 เทรนด์ คือ 1. Commerce หรือ Conversational Commerce คือ การช็อปปิ้งหรือการซื้อขายผ่านการแชท ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำกระแสเรื่องการทักแชทพูดคุยกับร้านค้าออนไลน์เพื่อซื้อสินค้า 2. Community ที่เห็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนบนสังคมออนไลน์มากขึ้น 3. Connectivity หรือการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเข้ามาเสริมประสบการณ์การเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) 4. Curation การนำเสนอเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล และ 5. Culture ที่ขณะนี้ทุกคนให้ความสำคัญกับวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก

 

‘เฟซบุ๊ก’ เปิด 5 เทรนด์ เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้บริโภค

 

 

ทั้งนี้เทรนด์ดังกล่าวสามารถสรุปได้เป็น 3 หัวข้อหลัก คือ 1. ความสะดวกสบาย โดย 86% เชื่อว่าในอนาคต สิ่งต่างๆ ในชีวิตจะต้องการเวลาของพวกเขามากขึ้นไปอีก ผู้คนต่างมองหาวิธีที่จะประหยัดเวลาและทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ซึ่ง 89% ยินดีที่จะจ่ายเพื่อสินค้าและบริการที่ช่วยประหยัดเวลา ขณะที่ 94% มองว่าความสะดวกสบายเป็นปัจจัยควบคู่ไปกับเรื่องของราคาเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้า นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยต้องการนำเวลาไปใช้กับสิ่งที่สำคัญ อาทิ การใช้เวลากับคนรัก 60% เพื่อสุขภาพ 60% การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ 60% เพื่อการท่องเที่ยว 72% และทำสิ่งดีๆ คืนให้สังคม 32% อีกทั้ง 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเผยว่าโซเชียลมีเดียทำให้สามารถโต้ตอบและมีความสัมพันธ์กับแบรนด์ต่างๆ ได้มากขึ้น 2. การมีส่วนร่วม ผู้บริโภคสนใจประสบการณ์ช็อปปิ้งที่สามารถเข้าถึงแบรนด์และมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้า โดยในปีที่ผ่านมา 65% ได้ลองช็อปปิ้งผ่านการไลฟ์สดมากขึ้น ซึ่ง 28% มีการซื้อสินค้าผ่านไลฟ์สด และ 84% ยังคงซื้อสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวทุกเดือน 3. การรวมตัวออนไลน์ เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AR ได้กลายเป็นพื้นฐานของประสบการณ์การช็อปปิ้งสำหรับผู้บริโภค โดย 88% ของผู้ใช้มีความสนใจฟีเจอร์ AR จากแบรนด์ต่างๆ อีกทั้งคนไทยกว่า 37 ล้านคนมีการรับชม Facebook Watch อย่างน้อยหนึ่งนาทีในแต่ละเดือน ซึ่งรายงานจาก Kantar ระบุว่า 97% ของผู้ที่รับชมวิดีโอของผู้เผยแพร่นั้น มีการใช้ Facebook Watch เป็นประจำ

ปัจจุบันผู้ใช้ในเอเชียแปซิฟิกกว่า 800 ล้านคนเป็นสมาชิกของกลุ่มกว่า 35 ล้านกลุ่มบน Facebook ขณะที่แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กประเทศไทยมีผู้ใช้แอคทีฟต่อเดือนอยู่ที่ราว 62 ล้านคน หรือ 45 ล้านคนต่อวัน และมีกลุ่มเฟซบุ๊กอยู่ที่ 6 ล้านกลุ่ม โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 91% เป็นสมาชิกของชุมชนออนไลน์ รวมถึง 89% ยินดีที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อของและสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการท้องถิ่น หากสินค้าและบริการนั้นๆ มีคุณภาพดีเท่ากับตัวเลือกอื่น

“อย่างไรก็ตาม ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการค้าแบบดิจิทัลความคาดหวังของผู้บริโภคในวันนี้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่ความคาดหวังต่อแบรนด์ แต่ยังรวมไปถึงความคาดหวังในชีวิตด้วย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกระแสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ จึงต้องปรับตัวรับกับความคาดหวังในแง่ของความสะดวกสบายจากผู้บริโภค และยังต้องมีแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคยุคดิจิทัลอีกด้วย” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,671 หน้า 16 วันที่ 18 - 21 เมษายน 2564