ชุดตรวจคัดแยก GM ตัวช่วยส่งออกมะละกอไทย

09 เม.ย. 2564 | 20:05 น.

อุตสาหกรรมแปรรูปมะละกอของประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างมากเนื่องจากตรวจพบการปะปนของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม จึงถูกปฏิเสธสินค้านำเข้าจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ผู้ผลิต และแปรรูปจำเป็นที่จะต้องสุ่มตรวจต้นกล้าและผลมะละกอที่เป็นวัตถุดิบ 100% เพื่อคัดแยกก่อนการผลิตและส่งตรวจวิเคราะห์เทคนิค Real-time PCR ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง 2,500-3,000 บาทต่อตัวอย่าง ใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อรอผลวิเคราะห์ปลอด GM จึงคัดแยกกลุ่มที่ตรวจไม่พบเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังพบความคลาดเคลื่อนของผลการทดสอบจากการรวมตัวอย่างจำนวนมากเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์

จากแนวคิดดังกล่าวทางบริษัท สามร้อยยอด จำกัด จึงได้เข้าหารือกับผู้ทำงานวิจัย ที่ประกอบด้วย ดร.ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, ดร.ปิยนุช ศรชัย และ ดร.ฐิติรัตน์ อัศวมงคลศิริ  เมื่อวันที่ 22 มีนาคม และ 7 มิถุนายน 2560 โดยบริษัท ให้ข้อมูลว่า ตลาดญี่ปุ่นตรวจพบมะละกอ GM จากประเทศไทย ปลายปี 2557 ทำให้ยอดสั่งซื้อลดลง บริษัทฯ ต้องทำโครงการสุ่มตรวจมะละกอจากทุกไร่ 10% และตรวจผลิตภัณฑ์ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า

ชุดตรวจคัดแยก GM ตัวช่วยส่งออกมะละกอไทย

ปรากฏว่าต้นปี 2559 เกิดปัญหาการตรวจพบมะละกอ GM อีก ทำให้ต้องเพิ่มการสุ่มตรวจเป็น 100% ก่อนซื้อ และตรวจผลิตภัณฑ์แปรรูปตรวจก่อนการส่งออก ปัจจุบันบริษัทฯ มีแปลงมะละกอของเกษตรกร จำนวนมากกว่า 10,000 ต้นที่ต้องสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการซื้อผลมะละกอเพื่อการแปรรูป เป็นมะละกออบแห้ง และ Fruit salad จึงเป็นที่มาโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันในภาคธุรกิจการเกษตร “การพัฒนาชุดตรวจคัดแยกมะละกอปลอด GM ในระยะต้นกล้าและผลเพื่ออุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร”

สำหรับการตรวจวิเคราะห์ต้นกล้า และผลมะละกอ เพื่อศึกษาการพัฒนาชุดตรวจสอบสำหรับคัดแยกมะละกอไม่ดัดแปลงพันธุกรรมโดยมี 2 วิธี คือ 

1.การคัดแยกมะละกอที่ไม่ดัดแปลงพันธุกรรมจากใบโดยใช้เจลกานามัยซิน และ 2. การคัดแยกมะละกอที่ไม่ดัดแปลงพันธุกรรมจากผลโดยเทคนิค Paper Chromatography Dot Bot Hybridization Assay
 (PACHA) และ Reverse PACHA

จุดเด่น การวิจัยพัฒนาชุดตรวจสอบสำหรับคัดแยกมะละกอไม่ดัดแปลงพันธุกรรมใช้หลักการตรวจยีนที่ถ่ายฝากเข้าไปในมะละกอ ได้แก่ ยีนต้านทานสารปฏิชีวะนะ กานามัยซิน (nptII) และยีนคัดกรอง CaMV 35S promoter และ Nos terminatorโดยการประยุกต์เครื่องมืออย่างง่าย เหมาะกับการใช้งานในภาคสนาม มีขั้นตอนการทดสอบที่ง่าย ราคาถูก เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถใช้ทดสอบควบคุมคุณภาพผลิตผลและผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด ส่งผลต่อความสามารถในการผลิตแข่งขันเชิงพาณิชย์ ลดการปนเปื้อนของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในสินค้าส่งออกของประเทศไทย ลดการขาดทุนของสินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจประเมินความเสี่ยง ช่วยส่งเสริมให้การส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศมีภาพลักษณ์ที่ดี และเกิดความเชื่อมั่นจากประเทศคู่ค้า และในอนาคตจะช่วยแก้ไขสถานการณ์การปนเปื้อนของพืชดัดแปลงพันธุกรรมในสินค้าส่งออกของประเทศ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564