สหภาพฯไปรษณีย์ไทยร้องนายกรัฐมนตรีแล้ว!เรียกร้องยกเลิกสรรหาเอ็มดี

02 เม.ย. 2564 | 10:31 น.

สหภาพฯไปรษณีย์ไทยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องยกเลิกสรรหาเอ็มดี เหตุบอร์ดรีบร้อนหลังยังไม่แต่งตั้ง รมต.ดีอีเอส อย่างเป็นทางการ

วันนี้ (2 เม.ย.) นายวิเลิศ การสะสม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด  (สร.ปณท.) เปิดเผยว่า ได้ไปยื่นหนังสื่อถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท.เนื่องจากบอร์ดรีบร้อนการสรรหาเพราะยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส โดยบอร์ดรีบสรุปออกมติเลือกคนภายนอกที่ขาดประสบการณ์ด้านไปรษณีย์เข้ามาบริหาร เพราะจะทำให้เสียเวลาในการเรียนรู้งาน เรียนรู้คน อีกทั้งยังขาดหลักธรรมาภิบาลในการมีส่วนร่วม

สร.ปณท.ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากสหภาพบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด  เห็นบอร์ดไปรษณีย์ไทย คณะนี้บริหารงานมานานบางท่านเป็นบอร์ดถึง 7 ปีและผลประกอบการไม่ดีขึ้นจึงขอความอนุเคราะห์ให้ท่านนายกรัฐมนตรีดำเนินการเปลี่ยนบอร์ดทั้งคณะ เพื่อความอยู่รอดของกิจการไปรษณีย์ไทย

คัดค้านสรรหาเอ็มดี

อนึ่งผู้สมัคร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ผ่านคุณสมบัติและคณะกรรมการบอร์ดไปรษณีย์  ได้เชิญ 2 ใน 4 ผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติมาแสดงวิสัยทัศน์ คือ นายดนันท์ สุภัทรพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NTและ นายพิษณุ วานิชผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจองค์กร ปณท เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ในช่วงเข้าของวันที่ 8 มี.ค.2564 และนำรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้บอร์ดบริษัทพิจารณา เพื่อทราบในช่วงบ่ายวันเดียวกัน  

ฟาก ปธ.บอร์ดไปรษณีย์ไทยแจงยิบ สรรหาโปร่งใส 

ด้านนายรัฐพล ภักดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ส่งหนังสือชี้แจงกรณีที่ได้ปรากฎว่ามีการส่งหนังสือโดยไม่ลงนามถึงคณะกรรมการ ปณท และบุคคลภายนอกหลายองค์กรเกี่ยวกับการสรรหา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (กจป.) ในประเด็นต่างๆนั้น 

ล่าสุดคณะกรรมการ ปณท เห็นว่า เพื่อให้ข้อเท็จจริงมีความถูกต้องและครบถ้วน จึงขอแจ้ง ดังนี้

1.กระบวนการสรรหา กจป.
        
-พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 8 จัดว่า กำหนดให้ในการจ้างและแต่งตั้งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ ให้คณะกรรมการ ของรัฐวิสาหกิจนั้นตั้งคณะกรรมการสรรหา จำนวน 5 คน ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยเมื่อได้ผู้ที่มีความเหมาะสมแล้ว ให้เสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้ง เป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไป โดยอาจเสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมมากกว่าหนึ่งชื่อก็ได้ 

ทั้งนี้ การจ้างและการแต่งตั้งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้บริหารเดิม

-หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0803 .2/ว.90 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2551 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 กำหนดให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยประธานกรรมการ ออกคำสั่งแต่งตั้ง จำนวน 2 คณะ ดังนี้

1) คณะกรรมการสรรหา เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยเมื่อสรรหาได้ผู้บริหารสูงสุดแล้ว ให้เสนอชื่อ
ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา

2) คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน เพื่อทำหน้าที่กำหนดผลตอบแทนและเจรจาต่อรองผลตอบแทนกับบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บริหารสูงสุดตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายผลตอบแทนที่กำหนดไว้ และให้เสนอผลการพิจารณาพร้อมร่างสัญญาจ้างต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา แล้วเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นขอบ ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงการคลัง พิจารณาเห็นชอบผลตอบแทนและร่างสัญญาจ้างแล้วให้รัฐวิสาหกิจนำเสนอผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (ตามกฎหมายจัดตั้ง
ของรัฐวิสาหกิจนั้น) เพื่อดำเนินการแต่งตั้งโดยในการทำสัญญาจ้างให้ประธานกรรมการ หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ลงนาม 

 

2.การดำเนินการสรรหา กจป.
     - คณะกรรมการ ปณท ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กจป. และคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน กจป.เพื่อทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้
     - คณะกรรมการสรรหา กจป. ได้พิจารณาและดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ สรุปดังนี้    
       
1. พิจารณากำหนดหลักกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง
กจป. โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมในการสรรหา กจป. ครั้งที่ผ่านมา และมีการปรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติมบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับโครงสร้างของ ปณท ในปัจจุบัน 
      
2. กรณีไม่มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่ง กจป
เนื่องจากตามประกาศรับสมัครบุคคล เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง กจป. ได้กำหนดวิธีการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา โดยจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครจากเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครก่อน
หากเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศรับสมัคร จึงจะเชิญผู้ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น
เข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ ดังนั้น กรณีที่ไม่มีการประกาศ รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรง ตำแหน่ง กจป. จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
      
3. การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา กจป. เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมาย
กำหนดไว้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลาดำเนินการเช่นเดียวกับการสรรหา กจป. ครั้งที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีการรวบรัดขั้นตอนการดำเนินงานจนผิดวิสัย
      
4. ในการสรรหา กจป. เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา กจป. โดยมติของคณะกรรมการสรรหา กจป. ที่พิจาณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความเหมาะสมที่ จะดำรงตำแหน่ง กจป.
ถือเป็นที่สุดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ผู้ที่มีได้เป็นคณะกรรมการสรรหา กจป. จึงไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง กจป. ได้
      
5. กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท ได้ทำหนังสือขอให้พิจารณาแต่งตั้งประธาน
สหภาพแรงานรัฐวิสาหกิจ ปณท เข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา กจป. ด้วยนั้น คณกรรมการ ปณท ได้พิจารณาจากข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ อื่นๆ ที่ไม่ให้สหภาพเข้าร่วมกระบวนการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเพื่อป้องกันการขัดแย้งของบทบาทและประโยชน์ของผู้แทนสหภาพในฐานะพนักงานซึ่งจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ กจป. จึงเห็นควรให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท เข้าร่วมในขั้นตอนสำคัญในลักษณะผู้สังเกตการณ์ได้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท มีส่วนร่วมในขั้นตอน
การสรรหา กจป. 

โดยคณะกรรมการสรรหา กจป. ได้เชิญให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ของผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่ง กจป. แต่ไม่สามารถตั้งคำถามในระหว่างการรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ และในช่วงของการตอบข้อซักถามของคณะกรรมการสรรหา กจป. ให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท รอภายนอกห้องประชุมก่อนเข้ารับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรายถัดไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมิใช่เป็นการจำกัดสิทธิแต่ประการใด เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท มิได้มีสิทธิในกระบวนการสรรหาตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปณท ได้ทำหนังสือขอสละสิทธิเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ในครั้งนี้
     
6. คณะกรรมการสรรหา กจป. ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลโดยคำนึงถึงความรู้
ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง กจป. เป็นสำคัญ ซึ่งมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยได้มีการเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมเพื่อให้คณะกรรมการ ปณท พิจารณาแต่งตั้ง เป็น กจป. ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว
       
นอกจากนี้ยังระบุว่า คณะกรรมการ ปณท เห็นว่าการได้มาซึ่ง กจป. เป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จึงให้ความสำคัญและตรวจสอบความถูกต้องในทุกขั้นตอนและขอยืนยันว่าทุกขั้นตอนได้ดำเนินการมาอย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้ว 

สำหรับการที่มีบุคคลแสดงความเห็นว่า กจป. ต้องเป็น "คนใน" เท่านั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล สำหรับคณะกรรมการ ปณท ไม่จำกัดสิทธิหรือกำหนดคุณสมบัติไว้ล่วงหน้าว่า กจป. จะต้องเป็น "คนใน" หรือ "คนนอก" แต่ประการใด แต่พิจารณาวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นสำคัญ ว่าจะมีศักยภาพในการขับเคลื่อนองค์กรซึ่งอยู่ในสภาวะประสบการณ์แข่งข้นที่รุนแรง และต้องมีการปรับปรุงองค์กรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กร ปณท ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรได้ ย่อมต้องขึ้นอยู่กับความสามัคคีและตั้งใจ
      
สำหรับ กจป. ที่ผ่านการคัดเลือกและแต่งตั้งอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานตามรอบระยะเวลาที่กำหนดซึ่งสมาชิกขององค์กร ปณท ควรให้การสนับสนุนการทำงานเพื่อให้ กจป. คนใหม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ผลงาน และควรแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ปณท ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง