ชูนวัตกรรมหนุน SMEs ทรานส์ฟอร์ม ฝ่าวิกฤติ

22 ก.พ. 2564 | 22:00 น.

นักวิชาการแนะ SMEs สร้างนวัตกรรมฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ด้านซิสโก้ชี้ปี 64 เอสเอ็มอีไทยตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการดำเนินงานเผย 3 เทรนด์สำคัญผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านไอที 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินไปอย่างไม่รู้วันจบสิ้น ธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อน GDP ของไทยกว่า 40% ก็ยังต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายที่สำคัญคือการเข้ามาของเทคโนโลยี ที่ทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อรับกระแสดิสรัปชัน ทั้งนี้ SMEs ไทยจะต้อง พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการสร้างนวัตกรรมเร่งการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และการขยายช่องทางในการหาตลาดใหม่เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภค

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษา THE INNOVATOR เปิดเผยว่า หัวใจหลักของ ธุรกิจ SMEs คือการให้ความสำคัญกับการ “สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ” ที่มีความ “แตกต่าง” และ “ตอบโจทย์” ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งองค์ประกอบพื้นฐานในการทำธุรกิจ ที่มีความสำคัญในการผลักดันไปสู่การสร้าง “นวัตกรรมที่แตกต่างและตอบโจทย์” ประกอบด้วย 1. องค์กร (Organization) ซึ่งการสร้างนวัตกรรมในองค์กรถือเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะช่วยส่งมอบคุณค่าให้ไปถึงลูกค้าได้สำเร็จ การสร้างนวัตกรรมในองค์กรประกอบด้วยพื้นฐานสำคัญ 3 ส่วน คือ รูปแบบการสร้างรายได้และกำไร (Revenue & Profit), การสร้างพันธมิตรและเครือข่ายธุรกิจ (Partnership) และการจัดการภายในองค์กร (Internal Management)

 

ชูนวัตกรรมหนุน SMEs ทรานส์ฟอร์ม ฝ่าวิกฤติ

 

2. สินค้าและบริการ (Product & Service) โดยธุรกิจสามารถสร้างนวัตกรรมได้ 2 ส่วน คือ คุณสมบัติของสินค้าและบริการ (Function) และ การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) และ 3. ลูกค้า (Customer) เนื่องจากการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องมีวิธีการในการบริหารจัดการความต้องการ ความคิด และความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งการสร้างนวัตกรรมในส่วนนี้ ประกอบด้วย การสร้างภาพลักษณ์(Branding) ที่นำไปสู่การผลิตสินค้าหรือรูปแบบบริการที่แตกต่างจากคู่แข่งแต่ง่ายต่อการจดจำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ, ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า (Access) ธุรกิจต่างๆ หันมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมากขึ้น และ บริการเสริม (Support) ที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้พิจารณาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

 

ด้านนายทวีวัฒน์ จันทรเสโน รักษาการกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดส่งผลให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และองค์กรธุรกิจทุกขนาดทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ ในปี 2564 ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่ง 3 แนวโน้มสำคัญที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและไอทีสำหรับเอสเอ็มอีในปี 2564 ได้แก่ 1. การรวมประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ 2. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวมถึงโซลูชันคลาวด์ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย และ 3. การใช้ระบบอัตโนมัติ คือแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

 

ขณะที่ผลการศึกษาของซิสโก้ชี้ให้เห็นว่าสำหรับประเทศไทยนั้นธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 21% มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญในปีนี้ และ 16% ต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ๆ โดยความท้าทายที่สำคัญของเอสเอ็มอีไทย คือการมองหาช่องทางอื่นๆ ในการขายและจัดส่งสินค้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน ทั้งนี้ข้อมูลคาดการณ์ของ Analysys Mason ระบุว่ายอดใช้จ่ายสะสมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของเอสเอ็มอี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสูงเกิน 5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2567 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,655 หน้า 16 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ 2564