ถอดรหัสธุรกิจ ‘Bitkub’ สู่ยุคสินทรัพย์ดิจิทัลรุ่ง

30 ก.ย. 2563 | 12:06 น.

เปิดแนวคิดซีอีโอรุ่นใหม่ นำทัพ ‘Bitkub’ สู่ยุคสินทรัพย์ดิจิทัลรุ่ง ครึ่งปีแรกเติบโตกว่า 600%

     วิกฤติของโควิด-19 ถือเป็นการเตือนสติให้คนที่ไม่เชื่อในความสำคัญของเทคโนโลยีต้องรีบเปลี่ยนความคิดของตัวเอง สถานการณ์ของโควิดทำให้เห็นว่าบริษัทที่ไม่มีกลยุทธ์ดิจิทัลที่ยังบริหารงานในแบบเดิมๆ จะได้รับผลกระทบหนักมากจนต้องมีการปรับลดพนักงานขณะที่บริษัทที่มีกลยุทธ์ดิจิทัลนั้นแทบจะไม่ได้รับผลกระทบอีกทั้งยังมีความต้องการจ้างงานเพิ่ม ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ Bitkub กล่าวในบทสัมภาษณ์ของ “ฐานเศรษฐกิจ” พร้อมเปิดแนวคิดในการ นำทัพธุรกิจที่ครึ่งปีแรกเติบโตแล้ว กว่า 600%

ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  จำกัด 

ขับเคลื่อน 4 บริษัท

     ปัจจุบันบิทคับมี 4 ธุรกิจหลัก คือ 1บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้คนไทยซื้อขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 100% ขณะนี้บิทคับออนไลน์มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ในตลาดถึง 95% มียอดการซื้อขาย 700-1,000 ล้านบาทต่อวัน เงินเข้าออกบริษัท 4,000 ล้านบาทต่อเดือน และถือทรัพย์สินของลูกค้าที่ฝากเงินและคริปโตเคอเรนซีอยู่ในแพลตฟอร์มรวมกว่า 5,000 ล้านบาท 2. บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนปรับปรุงดูแลระบบให้กับหน่วยงานต่างๆ ในไทย อาทิ กระทรวงการคลัง, ปตท. ในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการบริหารงาน

     3. บริษัท บิทคับ แล็ป จำกัด หรือ บิทคับ อะคาเดมี่ ธุรกิจการศึกษาด้านบล็อกเชน ให้ความรู้กับธุรกิจ B2B, B2C และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการจัดคอร์สอนเปิดบัญชีซื้อขาย การโอนเงินข้ามประเทศรวมถึงให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแก่บริษัทต่างๆ เพื่อปรับตัวเข้าสู่วิธีการทำงานด้วยกลยุทธ์ดิจิทัล 4. บริษัท บิทคับบล็อกเชน ซีเคียวริตี้ จำกัด ให้บริการด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตี้บล็อกเชน โดยมีพนักงานรวมทั้ง 4 บริษัท 153 คน ซึ่งปลายปีคาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 คน

ถอดรหัสธุรกิจ ‘Bitkub’  สู่ยุคสินทรัพย์ดิจิทัลรุ่ง

ครึ่งปี 63โตกว่า 600%

    สำหรับบิทคับนั้นเปิดให้บริการมาประมาณ 2 ปี 8 เดือน ปีที่ผ่านมาบิทคับออนไลน์มีการเติบโตกว่า 400% ขณะที่ในปี 2563 มีการเติบโตแล้วกว่า 600% คาดรวมทั้งปีจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ ของบิทคับออนไลน์คือนักลงทุนทั่วไป ทั้งนักลงทุนที่ซื้อขายรายวันและผู้ที่ลงทุนในระยะยาว และการโอนเงินข้ามประเทศ ทั้งนี้โมเดลรายได้ของบิทคับหลักๆ มาจากบิทคับออนไลน์ แต่ทุกบริษัทในกลุ่มนั้นรันธุรกิจบนกำไร ที่ผ่านมาบิทคับสามารถระดมทุนในรอบ Seed และ Pre Series A ได้รวม 117 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ใช้เงินที่ระดมทุนมาเพราะมีกำไรจากการทำธุรกิจ โดยในปีแรกมีการลง ทุนไป 50 ล้านบาท ทำเงินได้ 3 ล้าน ติดลบ 47 ล้านบาท ปีที่ 2 ลงทุน 60 ล้านบาท เท่าทุน และปีนี้ลงทุนเพิ่มเป็น 120 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าจะสามารถทำรายได้ได้ราว 240 ล้านบาท และกำไรที่ประมาณ 120 ล้านบาท

ผลักดันตลาดหลักทรัพย์ 2.0

     นายจิรายุสกล่าวต่อไปว่า มูลค่าราคาตลาด (Market Capitali  zation) ของสินทรัพย์ดิจิทัลบนบิทคับนั้นมีขนาดใหญ่กว่าผลิต ภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 2-3 เท่า ยังไม่รวมหุ้นเอสเอ็มอีที่คิดเป็น 90% ของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ตลาด หลักทรัพย์ 2.0 นั้นจะทำให้สามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ อาทิ บิทคอยน์ ทอง เพชร พลอย ก็สามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ นอกจากนี้บิทคับยังมีการ tokenization สินค้าที่จับต้องไม่ได้อย่างแบรนด์, ดาราหรือ ไอดอลที่มีชื่อเสียงด้วยเทคโน โลยีบล็อกเชน เช่น รูปภาพดารา ไอดอล ไฟล์เพลง รวมถึงการทำ tokenization คอนโดในอนาคต ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกันได้โดยที่ไม่ต้องมีเงินหลักล้าน

 

สึนามิปฏิวัติวงการการเงิน

     “ทุกวันนี้ มี RippleNet ที่คนไทยสามารถโอนเงินข้ามประเทศได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งใช้เวลาเพียง 30 วินาทีและมีค่าธรรมเนียมเพียง 0.05% ถูกลง 100 เท่าเมื่อเทียบกับบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมที่ 5% และใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 วันในการโอนข้าม ประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ใน sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุกธนาคารสามารถเชื่อมต่อกับบริการ นี้ได้ ทั้งนี้อีกภายใน 3-5 ปีวงการ การเงินจะเปลี่ยนไป การเข้ามาของ บิ๊กดาต้า เอไอ บล็อกเชน โทเคไนเซชัน จะเปลี่ยนวงการการเงินทั่วโลกไม่ใช่แค่ในเมืองไทย เหมือนคลื่นสึนามิที่มาปฏิวัติวงการการเงินธนาคาร คริปโตเคอเรนซีเป็นเพียงแค่หนึ่งในเทคโนโลยี แต่ถ้าลิบรา หรือดิจิทัลหยวนออกมาก็ จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วยิ่งขึ้น ธปท. เองก็มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาดิจิทัลบาท จะเห็นว่า อาลีเพย์ใช้เวลาแค่ 6 ปี ทำให้ประชากรจีน 1.5 ล้านคนไม่ใช้เงินสด ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรเพียง 69 ล้านคนไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 6 ปีแน่นอน” 

 

 

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,614 หน้า 16 วันที่ 1-3 ตุลาคม 2563 
 

โดย : ภาพิมล ภูมิถาวร