ปั้น IP NextWork เพิ่มมูลค่าธุรกิจนวัตกรรม

19 ก.ย. 2563 | 02:02 น.

NIA เร่งผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าธุรกิจนวัตกรรม โดยการพัฒนาเครือข่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้โครงการ “IP NextWork” เสริมทั้งความรู้และกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงเปิดมุมมองเทคนิคการร่างและจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศและต่างประเทศ ให้กับสมาชิกเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา NIA ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ได้ริเริ่มโครงการ “IP NextWork” ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ/ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงงานบริการของภาครัฐด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านการพัฒนาเครือข่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสตาร์ทอัพ/ผู้ประกอบการ ที่มุ่งใช้นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนบริษัทที่ปรึกษากฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถให้คำปรึกษาและบริการอย่างมือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Ecosystem) ของประเทศ

ปั้น IP NextWork เพิ่มมูลค่าธุรกิจนวัตกรรม

“IP NextWork” มุ่งเน้น 3 คอนเซ็ปท์หลัก ได้แก่ “Networking” เป็นการสร้างเครือข่ายจากคนที่ไม่รู้จักกลายมาเป็นเพื่อน หุ้นส่วน หรือคนให้คำปรึกษาทางธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Idea Market Space ที่ช่วยให้รู้จักกับธุริจของเพื่อนใหม่ ผนวกกับการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อประกวดและชิงรางวัล “Sharing” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกรณีศึกษาต่างๆ เช่น กรณีที่สามารถขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้สำเร็จ และกรณีที่มีอุปสรรคหรือปัญหาระหว่างการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา และ “Chat Space” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจได้พบปะและพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อตอบคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา แนะนำการวางแผนกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ การเตรียมความพร้อมและเทคนิคการส่งออกต่างประเทศ นอกจากนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับกลไกการสนับสนุนการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์จาก NIA ได้อีกด้วย

ผลการดำเนินโครงการ IP NextWork ในปีนี้ จัดกิจกรรมทั้งหมด 5 ครั้ง โดย 3 ครั้ง เน้นกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและการผลิต กลุ่มสุขภาพและเครื่องสำอาง และกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล ในครั้งที่ 4 เน้นการขยายเครือข่ายให้มากขึ้นกับเพื่อนต่างกลุ่มธุรกิจ ด้วยกิจกรรมฝึกอบรม “ไขรหัสเทคนิคการร่างสิทธิบัตร” และในครั้งที่ 5 จัดขึ้นในหัวข้อ “NextWork 2020 TALK & SHARE” ที่มีทั้งการนำเสนอมุมมองผู้บริหารด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบ Ted Talk และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

ปั้น IP NextWork เพิ่มมูลค่าธุรกิจนวัตกรรม

ด้าน นางสาวอัจฉรา ปู่มี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมเครือข่าย IP NextWork ในปีนี้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่ต้องการติดตั้งอุปกรณ์ โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม การจดสิทธิบัตร การจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า และอนุสิทธิบัตรกับผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นก่อนที่จะมีการวางขายในตลาด เนื่องจากจะช่วยป้องกันการลอกเลียนแบบ และยังช่วยสร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมว่าเป็นของแท้ นอกจากนี้ หลายครั้งที่ลูกค้าตัดสินใจเลือกใช้และซื้อสินค้าส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทแบรนด์ที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งถือได้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ปั้น IP NextWork เพิ่มมูลค่าธุรกิจนวัตกรรม

การเริ่มต้นจดสิทธิบัตรของธุรกิจนั้นเริ่มแรกเป็นไปค่อนข้างยาก เพราะตัวเราเองไม่รู้กฎหมาย อีกทั้งในการทำข้อมูลก่อนยื่นหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ กระบวนการค่อนข้างมีความละเอียด โดยครั้งแรกบริษัทมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และขอคำแนะนำจากหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนการขอจดสิทธิบัตร รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก NIA มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุน การผลักดันให้เข้าถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน คือการขอเงินทุนสนับสนุน และการระดมทุนต่างๆ ที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น บริษัทมีความน่าเชื่อถือ การเจรจาต่อรองง่ายกว่าที่ผ่านมา และยังช่วยสร้างมูลค่าสินค้าได้มากกว่าช่วงแรกเริ่ม ทำให้แบรนด์แข็งแรงมากยิ่งขึ้น