ดีอีเอส เปิดสถิติข่าวปลอมรอบ 4 เดือนกระทบ 74 หน่วยงาน

17 ก.ย. 2563 | 07:18 น.

ดีอีเอส แถลงภาพรวมการประเมินการตรวจสอบข่าวปลอม จากผลการปฏิบัติงานของ 151 ส่วนราชการรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา มีหน่วยงานที่มีการชี้ให้ตรวจสอบ 74 หน่วยงาน พบ 2 เหตุผลหลักของมือแพร่ข่าวปลอม ทำโดยเจตนา และรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันการพิจารณาคะแนนผลการประเมินการตรวจข่าวปลอม (Anti Fake News) สำหรับผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการทั้ง 151 ส่วนราชการ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยคะแนนประเมินจะพิจารณาจากการให้ความร่วมมือกับศูนย์ฯ เพื่อให้ขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องและจัดการแก้ไขข่าวปลอมเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยมีการรายงานกลับไปยังศูนย์ฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด (2 ชั่วโมง) หลังจากที่ได้รับแจ้งผ่านทางอีเมล์

 

“ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 63 พิจารณาเห็นว่าปัญหาการเผยแพร่ข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ  ที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน รวมทั้งในบางกรณีกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้วย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นของศูนย์ฯ บรรลุผลและสามารถดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดได้ ครม. จึงมีมติกำชับให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือแก่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ด้านภาพรวมการประเมินการตรวจสอบข่าวปลอม จากผลการปฏิบัติงานของ 151 ส่วนราชการ   (1 เม.ย – 15 ส.ค. 63) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางเพื่อทำความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดความมั่นคงและความไว้วางใจ ต่อการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการตรวจสอบข่าวปลอม ที่ได้รับการ/พิสูจน์ยืนยันโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีประเด็นข่าวที่ต้องได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้น 773 ประเด็น โดยมีหน่วยงานที่มีการชี้ให้ตรวจสอบ มีทั้งหมด 74 หน่วยงาน ส่วนอีก 77 หน่วยงานยังไม่มีประเด็นชี้ให้ตรวจสอบ

ขณะที่ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าการรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในหลายกรณี โดยมี 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.ผู้ส่งข่าวสาร “มีเจตนา” หวังผลให้เกิดความแตกแยกในสังคมหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน 2.ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดวิจารณญาณ ในการตรวจสอบกลั่นกรองก่อนส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้ผู้อื่น

ขณะที่การกระทำผิดในการใช้สื่อสังคมออนไลน์/อินเทอร์เน็ต เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสมซึ่งแนวโน้มการเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น ขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องและจัดการแก้ไขข่าวปลอมจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยจะมีทีมงานในฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย ฝ่ายติดตาม และคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ ฝ่ายตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีแนวโน้มเป็นข่าวปลอม ฝ่ายดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนฝ่ายประสานงานตรวจสอบข้อมูลและจัดทำข้อมูลที่ถูกต้อง

 

โดยวันนี้ (17 ก.ย. 63) กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การใช้งานระบบสำหรับผู้ประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอม เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน และวิธีการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม" ภายใต้โครงการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประสานงานเครือข่าย กลุ่มนิติกร สื่อมวลชน ตลอดจนเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าใจในกระบวนการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม บทบาท ขั้นตอนของผู้ประสานศูนย์ฯ ให้สามารถตรวจสอบและการแจ้งกลับมาผ่านศูนย์ฯ ตลอดจนการเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องตรวจสอบแล้วได้

‘พุทธิพงษ์’ โชว์ผลงาน เร่งปั้นไทยสู่ดิจิทัล ฮับ

“พุทธิพงษ์” เผย ‘ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเล่ย์’ สตาร์ทอัพแห่จองพื้นที่แล้ว 25%

 พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ คาดบังคับใช้ต้นปี 64 

“พุทธิพงษ์” เผยแฮกเกอร์พยายามเจาะระบบเว็บดีอีเอส