“สเปรย์สะท้อนน้ำจากแกลบ” เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง

19 ก.ย. 2563 | 07:10 น.

"หน้ากากอนามัย" กลายเป็นสิ่งของจำเป็นสำหรับวิถีชีวิตใหม่ไปแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา จึงได้เห็นนวัตกรรมมากมายเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย หรือจะว่าไปแล้ว น่าจะเป็น "หน้ากากผ้า"  ที่ประชาชนทั่วไปใช้แทนหน้ากากอนามัยมากกว่า และนวัตกรรมที่พูดถึงกันเยอะสำหรับหน้ากากผ้า ก็คือ "ผ้าสะท้อนน้ำ" ซึ่งเป็นนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน 

นั่นคือจุดเริ่มต้นไอเดียของ 2 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ต้องการทำสารเคลือบหน้ากากผ้า ที่เรียกว่า “สเปรย์สะท้อนน้ำ” ที่ผลิตจากของเหลือทิ้งภาคเกษตรเพื่อลดปัญหาขยะ โดยสารนี้สามารถใช้ฉีดพ่นเคลือบบนผ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันละอองน้ำลายหรือสารคัดหลั่งจากเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อฉีดพ่นสารเคลือบแล้ว หน้ากากผ้า ก็สามารถซักและนำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง  

“สเปรย์สะท้อนน้ำจากแกลบ” เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง

"วิภาดา จารุพงศ์จิตรัตน์"  หรือ น้องไฮ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. เล่าว่า ช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ใหม่ๆ เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัย คนก็หันมาใช้หน้ากากผ้า แม้กรมอนามัยบอกว่าสามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเวลามีละอองน้ำลายจากคนที่ไอหรือจามมาโดน สักพักมันจะซึมเข้าไปในผ้าได้ จึงไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ 100% 

เธอและเพื่อน "ศดานันท์ สุขนิตย์" หรือน้องสนุ๊ก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ.จึงร่วมกันคิด ว่าน่าจะทำสารเคลือบผ้าอะไรก็ได้ เพื่อให้สามารถป้องกันละอองน้ำลายที่ติดอยู่บนผิวผ้าได้ เพราะปกติผ้าทั่วไปจะมีรูขนาด 20 ไมโครเมตร ซึ่งรูมีขนาดใหญ่กว่าหน้ากากอนามัย ขณะที่เชื้อไวรัสนั้น มีขนาดที่เล็กมากๆ ประมาณ 0.05-0.2 ไมโครเมตร ถึงแม้จะอยู่บนละอองน้ำลายที่มีขนาดประมาณ 50 - 100 ไมโครเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่อยู่ดี จึงคิดกันว่าจะทำสารที่สามารถสะท้อนน้ำ ป้องกันการดูดซึมน้ำบนผ้าได้ ทำให้เราพัฒนาสารตัวนี้ขึ้นมา

“สเปรย์สะท้อนน้ำจากแกลบ” เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง

"น้องสนุ๊ก" เล่าเสริมว่า ช่วงแรกมองว่า มีหน้ากากสะท้อนน้ำยี่ห้อหนึ่งมีวางขายในตลาดอยู่แล้ว แต่นั่นไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะโจทย์ที่ได้รับจากอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ให้ลองเอาของเหลือทิ้งจากภาคเกษตร มาเป็นสารเคลือบ ซึ่งนอกจะทำให้ผ้าธรรมดาทั่วๆ ไปกลายเป็นหน้ากากสะท้อนน้ำ นำมาใช้ซ้ำๆ ได้ ทำให้สามารถลดขยะ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ทั้งหน้ากากผ้า และของเหลือทิ้งจากเกษตรไปพร้อมๆ กัน  

ของเหลือทิ้งจากภาคเกษตร ที่นักคิดทั้ง 2 คนเลือกใช้ คือ แกลบ เพราะประเทศไทยปลูกข้าวกันเยอะ แล้วแกลบส่วนใหญ่ที่เห็นก็เอาไปทำปุ๋ยหรือเผาทิ้ง ทำให้เกิดฝุ่นกลายเป็นมลพิษ จึงนำแกลบมาสกัดเอาสารที่ต้องการ แล้วลดขนาดของสารนั้นลงให้อยู่ในระดับนาโนเมตร จากนั้นปรับสภาพพื้นผิวโครงสร้างให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบน้ำ แล้วนำไปผสมให้กลายเป็นสารแขวนลอยเพื่อนำมาใช้สเปรย์พ่นลงบนผ้า หลังจากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการยึดติดตรึง เพื่อให้สารติดบนเส้นใยของผ้าได้แน่นขึ้น 

“สเปรย์สะท้อนน้ำจากแกลบ” เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง

ทั้ง 2 เริ่มต้นจากการใช้แกลบ 1 กิโลกรัม ผลิตสารพ่นได้ประมาณ 2 กรัม นำมาทดสอบฉีดพ่นทั่วพื้นผ้าสาลูหรือผ้าอ้อมเด็กซึ่งปริมาณสารที่ใช้น้อยมาก ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนกว่า ก่อนจบโปรเจกต์ ผลการทดลองที่ได้พบว่า จากผ้าอ้อมที่มีรูระบายค่อนข้างใหญ่ หลังพ่นสารเข้าไปเคลือบบนผ้าอ้อมทำให้เนื้อผ้ายึดติดกันแน่น รูตารางของเนื้อผ้าถี่ขึ้น เมื่อลองหยดน้ำหรือเทน้ำลงบนผ้าที่เคลือบสาร ก็พบว่า น้ำกลิ้งไปมาบนผ้า น้ำไม่ซึมเข้าในเนื้อผ้าแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ทดสอบด้วยการซักถึง 30 ครั้ง แต่ผ้าที่เคลือบสารก็ยังคงมีคุณสมบัติในการกันน้ำหรือสะท้อนน้ำแม้จะนำมาใช้ซ้ำๆ หลายรอบ ผ้าก็ไม่เปียกน้ำ 

"ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์" อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวเสริมว่า ความหมายของคำว่า “สะท้อนน้ำ” คือทำให้พื้นผิวของผ้าไม่เปียกน้ำ หรือน้ำไม่สามารถซึมเข้าไปในผ้าได้ และด้วยคุณสมบัติของสารสะท้อนน้ำจากแกลบที่สามารถกันน้ำได้นี้ นอกจากนำไปใช้ฉีดพ่นบนหน้ากากผ้าแล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก เช่น รองเท้าผ้าใบ เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งชุดผ่าตัด หรือจะนำไปใช้ฉีดพ่นบนกระดาษก็สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนั้น ยังสามารถปรับสูตรการผลิตสารพ่นเคลือบสะท้อนน้ำให้เหมาะสมกับประเภทของวัสดุที่อยากให้กันน้ำได้อีกด้วย ดังนั้น หากมีผู้สนใจที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หรือพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ สามารถติดต่อมาได้ที่ภาควิชาฟิสิกส์ มจธ. 

“สเปรย์สะท้อนน้ำจากแกลบ” เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง

สเปรย์สะท้อนน้ำหรือสารสะท้อนน้ำจากแกลบ ถือเป็นนวัตกรรมสารเคลือบกันน้ำที่ผลิตจากธรรมชาติรายแรกๆ ที่ยังไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม แกลบไม่ใช่ของเหลือทิ้งทางการเกษตรเพียงชนิดเดียว ที่สามารถนำมาสกัดสารที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำได้เท่านั้น แต่ยังมีฟางข้าว ซังข้าวโพด อ้อย หรือแม้แต่ตระกูลพืชเปลือกแข็ง เช่น เปลือกมะพร้าว กาบมะพร้าว เปลือกถั่ว รวมถึงใบไผ่ ที่สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้เช่นกัน

หน้า 18 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,610 วันที่ 17 - 19 กันยายน พ.ศ. 2563