ใครบ้างที่ต้องลงทะเบียน “โดรน”

11 ก.ย. 2563 | 04:00 น.

ใครบ้างที่ต้องลงทะเบียน “โดรน” แล้วถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติจะโดนปรับอย่างไรเช็กที่นี่ที่เดียว

จากกรณีที่เครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก หรือ โดรน ปริมาณตัวเลขยอดขึ้นทะเบียนปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2561 มียอดขึ้นทะเบียนโดรนรวมทั้งสิ้น 11,016 เครื่อง แยกเป็นขึ้นทะเบียนที่สำนักงาน กสทช. 8,843 เครื่อง (สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง 4,494 เครื่อง และส่วนภูมิภาค 4,349 เครื่อง) และขึ้นทะเบียนที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จำนวน 706 เครื่อง ขึ้นทะเบียน ณ สถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,467 เครื่อง ซึ่งข้อมูลยอดขึ้นทะเบียนของสถานีตำรวจทั่วประเทศเป็นข้อมูลที่สำนักงาน กสทช. ได้รับจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวบรวมส่งมา

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเร็ว ๆนี้ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช.  กล่าวว่า หลังวันที่ 23 กันยายน 2563 ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินสำหรับใช้งานเป็นการทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า "ประกาศโดรน" จะมีผลบังคับใช้ ทำให้ผู้ที่มีโดรนไว้ในครอบครองมีหน้าที่ต้องมาขึ้นทะเบียนโดรน ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้ครอบครองเครื่อง สำหรับผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนโดรนกับสำนักงาน กสทช. ไว้แล้วก่อนหน้านี้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับใบอนุญาตให้มี ใช้และนำออกซึ่งวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม

แล้วใครบ้าง?ที่ต้องลงทะเบียนโดรน

 1.เจ้าของโดรนและผู้ใช้งานทั่วไป

2.นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นำโดรนเข้ามาใช้ในประเทศไทย

3.ผู้ที่นำโดรนเข้ามาใช้ในภารกิจชั่วคราว เช่น นำมาใช้ถ่ายภาพยนตร์ ใช้ในงานโชว์

4.หน่วยงานของรัฐทั้งหมดยกเว้นหน่วยงานความมั่นคงโดยประชาชนที่มีโดรนไว้ในครอบครองสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนโดรนได้ที่สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง พหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) กรุงเทพ หรือสำนักงาน กสทช. ภาค หรือสำนักงาน กสทช.เขต โดยมีค่าธรรมเนียมคำขอ 200 บาทต่อเครื่อง

ดังนั้นผู้ใช้ “โดรน” ต้องยื่น ขึ้นทะเบียนโดรน ภายใน 30 วันนับตั้งแต่มีโดรนไว้ในครอบครอง และหากฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย โดยผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม