ดึง IoT ยกระดับ อุตฯเลี้ยงสัตว์นํ้า สู่วิถีดิจิทัล

13 ส.ค. 2563 | 11:00 น.

เนคเทค ยกระดับผู้ประกอบการสัตว์นํ้าสู่วิถีดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี Aqua-IoT ขยายผลใช้งานจริงในพื้นที่ภาคตะวันออก ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์นํ้าอย่างยั่งยืน

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เปิดเผยว่า เนื่องจากในปี 2553 ประเทศ ไทย เกิดวิกฤติสภาวะตายด่วนของกุ้งทะเล (Shrimp Early Mortality Syndrome: EMS) ทำให้ไทยตกอันดับจากที่ 1 ของการส่งออกกุ้งและร่วงหล่นลงมาต่อเนื่องหลายปี ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีภาคการประมง เนื่อง จากต้นทุนที่สูงขึ้น แม้ปี 2558 สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแต่ผลผลิตยังไม่ถึงเป้าหมายเกิดจากการขาดความรู้ของเกษตรกรในการบริหารจัดการฟาร์ม และการจัดการระบบแบบครบวงจร เนคเทค-สวทช.จึงได้จัดทำโครงการระบบและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับสัตว์นํ้า Giga Impact Initiative (GII) โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว กลุ่มวิจัยระบบอัจฉริยะ และกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซ็นเซอร์ ด้วยระบบติด ตามแจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงด้วยเทคโนโลยี IoT (Aqua-IoT) ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและปลากระพง สัตว์นํ้าเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

สำหรับระบบ Aqua-IoT นั้นประกอบไปด้วย 4 เทคโนโลยี ได้แก่ 1. ระบบตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน ค่าออกซิเจน (DO) ที่ละลายในนํ้าแบบทันที รวมทั้งสถานีวัดอากาศ (Weather Station) ประกอบไปด้วยอุปกรณ์เซ็นเซอร์และอุปกรณ์ชุดรับส่งสัญญาณค่าการตรวจออกซิเจนที่ละลายในนํ้า (DO) ค่าอุณหภูมิของนํ้าในบ่อเลี้ยง (Temp) และค่าความเป็น กรดด่างของนํ้าในบ่อเลี้ยง (pH) ส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์ ผ่านอุปกรณ์ IoT ตรวจวัดค่า ออกซิเจนละลายตลอด 24 ชั่วโมง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการที่ออกซิเจนตํ่ากว่าระดับที่เหมาะสม รวมถึงมีสถานีวัดอากาศที่ใช้วัดความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณนํ้าฝน  และปริมาณแสง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งผ่านทางแอพพลิเคชันทุก 5 นาที และแจ้งเตือนผ่านข้อความ SMS รวมถึงมีระบบไฟฉุกเฉินหน้าบ่อ

 

ดึง IoT ยกระดับ อุตฯเลี้ยงสัตว์นํ้า สู่วิถีดิจิทัล

 

 

 

2. ระบบกล้องตรวจจุลชีวขนาดเล็กในนํ้า ช่วยตรวจสภาพทางกายภาพของสัตว์นํ้าขนาดเล็กที่ตาเปล่ามองเห็นไม่ชัดสังเกตความผิดปกติต่างๆ โดยสามารถแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านการเชื่อมต่อ USB 3. ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจคุณภาพนํ้าบ่อเลี้ยง ป้องกันความผิดพลาดในการตรวจวัดคุณภาพนํ้าก่อนและระหว่างเลี้ยง รองรับอุปกรณ์บันทึกภาพแบบ external หรือ on-Board เชื่อมต่อ Wifi และเชื่อมต่ออุปกรณ์ อื่นๆ ผ่านบลูทูธ

4. ระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า ตรวจสภาวะทางชีวภาพของบ่อเพาะเลี้ยง ดูรูปแบบการเติบโตของจุลินทรีย์โปรไบโอติก สามารถติดตามข้อมูลการเจริญเติบโตผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยผลจากระบบนี้จะช่วยคาดการณ์การเติบโตของจุลินทรีย์กลุ่มไม่ดีในบ่อนั้นๆ ได้ก่อนเกิดปัญหา ทำให้เกษตรกรมีเวลาในการจัดการกับจุลินทรีย์กลุ่มนี้ได้ อีกทั้งยังช่วยให้เห็นถึงรูปแบบจุลินทรีย์โดยรวมในบ่อเลี้ยงด้วย

 

 

ทั้งนี้เทคโนโลยี Aqua-IoT ได้มีการติดตั้ง และใช้งานในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จำนวน 15 ฟาร์ม ที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการโครงการ อาทิ ลูกกระต่ายฟาร์ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งแบบครบวงจร เจริญดีฟาร์ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ฟาร์มระบบลอย-สมัยใหม่ โดย Smart Farmer และมานพฟาร์ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งตามวิถีธรรมชาติ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,600 หน้า 16 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม 2563