เริ่มต้นนับหนึ่ง ประมูลคลื่น 900

19 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
ในที่สุดปมประเด็นปัญหาที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เสนอเงื่อนไขขอสวมสิทธิ์คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 895-905 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นช่วงคลื่นความถี่ที่บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เสนอราคาสุดท้ายที่ 75,654 ล้านบาท ก็ปิดฉากเมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายออกมาทุบโต๊ะไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ เอดับบลิวเอ็น ร้องขอมาได้

[caption id="attachment_45451" align="aligncenter" width="503"] ลำดับเหตุการณ์ ประมูลคลื่น 900 ลำดับเหตุการณ์ ประมูลคลื่น 900[/caption]

 ย้อนปมร้อน

เป็นเพราะ แจส โมบาย ได้ทิ้งใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยไม่ยอมจ่ายค่าคลื่นความถี่ในงวดแรกพร้อมแบงก์การันตีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมาจนไปสู่กระบวนการยึดค่ามัดจำคลื่นความถี่ ในจำนวนเงิน 644 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

นั้นจึงเป็นที่มาที่ เอไอเอส ได้ยื่นข้อเสนอเพี่อขอรับสิทธิ์ในช่วงคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ของ แจส โมบาย แต่สุดท้ายก็ต้องปิดฉากลง เมื่อรองนายกฯวิษณุ ออกมาให้สัมภาษณ์หลังประชุมกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.แล้วเสร็จว่า ให้ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เปิดประมูลใหม่เพื่อป้องกันข้อครหา และให้บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด เข้าร่วมประมูลด้วย

 วงการป่วน

หลัง แจส โมบาย ทิ้งใบอนุญาตราคาหุ้นปรับตัวลดลง ไม่เพียงเท่านี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย SP และสุดท้ายก็ปลดเครื่องหมาย SP

แม้ แจส อ้างถึงที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทได้ให้ความเห็นว่า แจส โมบาย ต้องถูกริบเงินประกัน จำนวน 644 ล้านบาท ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากประกาศ กสทช.ไม่ได้ระบุให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบในความเสียหายใดๆ เพิ่มเติม

นอกเหนือจากเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท โดยข้อ 6.2 วรรคท้ายของประกาศ กสทช.และ ข้อ 5 วรรค 2 ของแบบ "หนังสือยินยอมของผู้รับใบอนุญาต" แนบท้ายของประกาศ กสทช. ระบุไว้แต่เพียงว่า "ในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่า ผู้ชนะการประมูลนั้นสละสิทธิ์ที่จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ตามประกาศ กสทช.และคณะกรรมการสงวนสิทธิ์ที่จะริบหลักประกันการประมูล"

อนึ่งจำนวนเงินประกันการประมูลดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงินเนื่องจากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของบริษัทแล้ว คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.27 เท่านั้น และเงินประกันการประมูลดังกล่าวมาจากทุนชำระแล้วของบริษัท แจส โมบายฯ และ เงินที่บริษัทให้กู้ยืมซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในปี 2559 จำนวน 644 ล้านบาท

หลายๆ คนตั้งคำถามกรณีที่ "แจส โมบาย" ทิ้งใบอนุญาต เพราะแม้แต่ บิ๊กบอสกลุ่มทรู "ศุภชัย เจียรวนนท์" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ยังบอกว่า "คิดว่า แจส โมบาย จะมาจ่ายแน่แต่เมื่อรู้นาทีสุดท้ายที่ แจส โมบายไม่มาจ่ายก็ตกใจอยู่เหมือนกัน"

 กสทช.ดิ้น

พลันที่ แจส โมบาย ปิดจ๊อบเบี้ยวไม่ยอมจ่ายค่าประมูลในงวดที่ 1 พร้อมแบงก์การันตี ปรากฏว่าทาง กสทช.ต้องปรับกระบวนทัพยกใหญ่โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาเปิดเผยว่า กทค.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้มีมติเตรียมจัดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ใหม่ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ราคาตั้งต้นของประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ครั้งใหม่ คือ 75,564 ล้านบาท แต่อาจเปลี่ยนใช้การเคาะครั้งสุดท้ายของแต่ละค่ายเป็นตัวตั้ง

โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขประมูลเดิม 3 เรื่อง คือ 1.ราคาเริ่มต้นประมูล คลื่น 900 วงเงิน 75,654 ล้านบาท ,2.มาตรการเยียวยาปรับปรุงแก้ไขเมื่อมีผู้ชำระค่าใบอนุญาต ต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการรายเดิม 30 วัน และ 3.เงินหลักประกันมูลค่าคลื่นจากเดิม 5% เป็น 30-20 และ 10% และเปิดรับฟังคิดเห็นสาธารณะ

พร้อมทั้งปรับราคาเริ่มต้นประมูล ซึ่ง กทค. คาดว่าจะใช้สมมติฐานราคาสุดท้ายที่ แจส โมบาย ประมูลได้ที่ 75,654 ล้านบาท รวมถึงปรับเงื่อนไขการชำระเงินให้เข้มงวดขึ้น และจะปรับปรุงประกาศเรื่องมาตรการเยียวยาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์รอบใหม่ด้วย

 เลื่อนประมูลใหม่ 24 มิ.ย.

หลังจาก กทค.มีมติที่จะเปิดประมูลในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ แต่เมื่อนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมานั้นปรากฏว่าที่ประชุมบอร์ด กสทช.รับรองมติที่ประชุมบอร์ด กทค. นำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปรับฟังความความคิดเห็นสาธารณะ แต่สิ่งที่แก้ไข คือ ผู้เข้าร่วมประมูล กรณีของ ทรูมูฟ เอช มติบอร์ด กสทช. จำนวน 5:3 เสียงไม่ให้ ทรูมูฟ เอช เข้าร่วมประมูลเพราะราคาที่ ทรูมูฟ เอช ชนะการประมูล คือ 75,654 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงแล้ว เหตุผลที่ไม่ให้ ทรูมูฟ เอช เข้าประมูลหวั่นจะผูกขาดตลาดมากจนเกินไป

 "เอไอเอส" พร้อมจ่ายราคา "แจสฯ"

นอกจากนี้แล้วสำนักงาน กสทช.ได้รับหนังสือจาก เอไอเอส เมื่อเวลา 15.00 น. โดย เอไอเอส แจ้งว่าพร้อมรับราคาคลื่นความถี่จำนวน 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ แจส ประมูลได้ในราคาสุดท้าย แต่ เอไอเอส ยื่นเงื่อนไขว่าต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 เมษายนนี้ ก่อนที่มาตรการเยียวยาสิ้นสุดเนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองถึงเที่ยงคืนของวันที่ 14 เมษายน อย่างไรก็ตาม กสทช.เตรียมนำเรื่องดังกล่าวเรียนเสนอต่อหัวหน้าคณะ คสช. ( พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ต่อไป

"ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ เอไอเอส สนใจราคานี้แล้ว ในทางกฎหมาย กสทช.ไม่สามารถทำได้ต้องใช้อำนาจของ คสช. อาศัย มาตรา 44 ออกประกาศกฎเกณฑ์เพิ่มเติมจากเดิมที่ กสทช.กำหนดว่าเมื่อยกเลิกการประมูลใหม่รายที่สองที่เสนอราคาได้ไม่มีสิทธิ์ แต่เราจะนำเรียนเสนอต่อหัวหน้า คสช.ให้ใช้ม.44 เปลี่ยนหลักเกณฑ์ให้ผู้ประมูลรายที่ 2 คือ เอดับบลิวเอ็น หรือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส ที่ประมูลราคาสุดท้าย 75,976 ล้านบาท เมื่อมีคนสนใจแล้วเราต้องทำความเห็นคำนึงถึงข้อดีข้อเสียทั้งหมด ถ้า คสช.รับเรื่องก็ไม่ต้องประมูลในวันที่ 24 มิถุนายนเพราะถือว่าเป็นการออกประกาศเพิ่มเติม" นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของเลขา กสทช.

การประมูลครั้งที่ผ่านมา กสทช.ไม่คาดว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อ เอดับบลิวเอ็น เสนอเงื่อนไขเข้ามาหน้าที่ของ กสทช.ต้องนำเสนอต่อ คสช.ขึ้นไปถือว่าเป็นอำนาจ คสช. ดังนั้น กสทช.พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้เร็วที่สุด ถ้า คสช.ออกประกาศมาอย่างไร กสทช.ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะแย้งอำนาจได้ เราจะพยายามให้ดีที่สุด และ วันที่ 8 มิถุนายนรู้ผล

 "วิษณุ" ไม่ใช้ ม.44 สั่งประมูลใหม่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังเข้าชี้แจงต่อนายวิษณุ เครืองาม เพื่อชี้แจ้ง กรณี เอไอเอส ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอต่อหัวหน้า คสช. กรณีเอไอเอสจะรับช่วงคลื่น 900 MHz ต่อจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. ได้เสนอแนวทาง 3 แนวทาง ให้ที่ประชุมพิจารณา ดังนี้

แนวทางที่ 1 ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามกรอบระยะเวลาและร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ผ่านมติของที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา
แนวทางที่ 2 เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ให้ผู้ที่เสนอราคาประมูลลำดับถัดไปรับช่วงคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ต่อจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในราคา 75,654 ล้านบาท และขอขยายมาตรการเยียวยาซิมดับจากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 14 เมษายน นี้

แนวทางที่ 3 เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 โดยยึดร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ผ่านมติของที่ประชุม กสทช. มาปรับแก้และลดกระบวนการให้เร็วขึ้น ทำให้การประมูลจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 เดือน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในตลาดเข้าร่วมประมูลด้วยรวมทั้งให้ขยายมาตรการเยียวยาซิมดับของเอไอเอส

โดยข้อสรุปในการประชุมวันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. วิเคราะห์แนวทางทั้ง 3 แล้วนำเสนอแนวทางที่ดีที่สุดไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าสำนักงานจะทำหนังสือเสนอต่อหัวหน้า คสช. อีกครั้งภายในเร็วๆ นี้เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว

สุดท้ายแล้วคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในชุดที่ 1 ก็จบปัญหาโดย คสช. มีคำสั่งให้เปิดประมูลใหม่ และให้สิทธิ์ ทรูมูฟ เอช เข้าร่วมประมูล ต้องรอลุ้นกันว่าวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เอไอเอส จะสู้หรือไม่ หรือว่า "ทรูมูฟ เอช" จะผูกขาดคลื่น 900 อีกไม่นานรู้ผล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559