กสทช.ลุ้นศาล ผู้ประมูลทีวี เรียงช่องที่เดิม

06 ส.ค. 2563 | 08:00 น.

 

ปัญหาการจัดเรียงช่องทีวีดิจิทัล ยังไม่ลงตัว แม้วันที่ 4 สิงหาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความเห็น (Focus Group) โดยมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก แต่ก็ไร้ข้อสรุป

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุมหารือร่วมกัน (Focus Group) ในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการทีวีช่องต่างๆ ทั้งทีวีดาวเทียม ทีวีภาคพื้นดิน ฯลฯ เข้าร่วมหารือซึ่งยังเป็นข้อสรุปจากการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้เป็นแนวความคิดจากคณะกรรมการ โดยการหารือนั้นเพื่อเตรียมการหากศาลจะยกเลิกคำสั่งการเรียงช่องเดิม ทางสำนักงาน กสทช. ได้เตรียมแผนไว้ว่า 10 ช่องแรกจะเป็นช่องที่ไม่ใช่ทีวีภาคพื้นดินและช่อง 11-36 จะเป็นช่องทีวีภาคพื้นดิน ซึ่งโดยนัยยะจะไม่กระทบกับเลขช่อง แต่ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นว่า 10 ช่องแรกที่ให้ทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีเข้าไปจัดการเองได้

ทางฝั่งทีวีดิจิทัลก็มีความเห็นว่าอย่าให้เป็นการนำช่องจากการประมูลมาอยู่ใน 1-10 ช่องแรกควรจะไปอยู่ในช่อง 11-20 หรือแม้แต่คนที่เคยประมูลแล้วออกไปก็ไม่ควรกลับเข้ามา ดังนั้นช่องที่ 1 ถึง 10 ก็จะเป็นช่องทีวีสาธารณะ ซึ่งทาง กสทช. มองว่าอาจสร้างความสับสนหากทีวีที่ออกอากาศในแต่ละแพลตฟอร์มเป็นคนละเลขช่องกัน ทุกแพลตฟอร์มควรจะเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด หลังจากนี้จะต้องมีการหารือระหว่างคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนต่อไปคือจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในเร็วๆนี้ และยังต้องรอคำสั่งศาล ซึ่งจะมีในวันที่ 25 สิงหาคม 2563

“ทั้งนี้อยากให้ศาลมองในมุมของผู้ประกอบการทีวีที่มีการประมูลช่อง เพราะการยกเลิกการเรียงช่องที่เป็นช่องทีวีที่ประมูลมาหรือทีวีภาคพื้นดินไม่ได้อยู่ในสมการของศาลเลย ศาลน่าจะรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ด้วยเพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและคำสั่งศาล ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. ก็ต้องเตรียมการไว้ก่อน ในกรณีถ้าศาลให้ยกเลิกคำสั่งเดิมจะได้มีทางออก”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คุณภาพของกล่องรับสัญญาณทำให้ไม่สามารถรับชมได้ ปัจจุบันจึงมีผู้รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณเพียง 20% ของกล่องที่แจกจ่ายไปทั้งหมด กสทช. จึงกำหนดให้มีกฏ Must Carry เพื่อให้โครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม นำช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ให้ผู้ชมได้ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดเรียงช่องใหม่ เมื่อเกิดปัญหานี้ กสทช. ก็ต้องตอบคำถามและแก้ปัญหานี้

“ปัญหาการเรียงช่องที่เกิดขึ้น จะสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค หากต้องมีการจัดเรียงช่องใหม่ ช่องเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะเรียงอยู่ช่องใดก็ได้ ส่วนทีวีดิจิทัล อาจจะต้องไปอยู่ลำดับที่ 100 -200 ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องเสียเงินประมูลมหาศาล สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งระบบ”

ทุกวันนี้หลายช่องต้องประสบปัญหา เช่น ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 แต่เมื่อไปอยู่บนแพลต ฟอร์มเคเบิลทีวี จะไปอยู่ที่ช่อง 42 การสร้างแบรนด์ ประชาสัมพันธ์ก็ลำบาก คนดูจะสับสน ขณะเดียวกันหากให้เคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียม จัดเรียงช่องได้เอง นำช่อง ASTV หรือช่องที่เกี่ยวกับการเมือง หรือช่องทีวีดิจิทัลที่เคยออกอากาศและยุติไปแล้ว กลับมาออกใหม่ ถามว่าจะแฟร์ต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่มีอยู่และต้องใช้เงินประมูลจำนวนมากหรือไม่

อย่างไรก็ตามหากทีวีดิจิทัล ต้องมีการปรับเปลี่ยนเลขช่อง จะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ ทำให้ผู้ประอบการเตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อกสทช.

ด้านนายสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า มองว่าหากจัดเรียงช่องใหม่ โดยนำช่อง 1-10 มาให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมได้ใช้งาน น่าจะส่งผลประโยชน์กว่า และช่องดังกล่าวไม่ส่งผล|กระทบทำให้ช่องทีวีดิจิทัลต้องเปลี่ยนหมายเลข และสร้างความสับสนให้กับผู้ชม โดยเบื้องต้น ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งปัจจุบันช่อง 1 คือ ช่อง 5 HD1 , ช่อง 2 คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และช่อง 3 คือ ไทยพีบีเอส หากจัดเรียงช่องใหม่ ช่องเหล่านี้ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ช่อง 11 , 12 และ 13 ตามลำดับ ไปรวมกลุ่มอยู่กับทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ ขณะที่เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมที่เข้ามา ก็จะเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะมาจัดลง ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อช่องทีวีดิจิทัลที่มีอยู่แน่นอน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563