อัดแสนล้านรับ 5G AIS ลุยทั่วประเทศเดือนนี้

05 ส.ค. 2563 | 20:00 น.

โอเปอเรเตอร์มือถือเปิดแนวรบ 5G เอไอเอสเดินหน้าขยายบริการต่อเนื่อง ลุยติดตั้ง 5G SA ในพื้นที่ กทม.- EEC ประกาศเปิดให้บริการทั่วประเทศ ส.ค.นี้ ด้านดีแทคทุ่มหมื่นล้าน เสริมแกร่งโครงข่าย 4G-5G ค่ายทรูฯ เดินหน้าผนึกพันธมิตรสร้างยูสเคส

การลงทุนโครงข่าย 5G ของโอเปอเรเตอร์ ถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ซึ่งเม็ดเงินลงทุนมีมูลค่าเกือบแสนล้านบาท คาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังสงคราม 5G จะเริ่มปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังจากที่โอเปอเรเตอร์จะเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ขณะที่เครื่องสมาร์ทโฟน หรือสมาร์ทดีไวซ์ ที่ออกสู่ตลาดครึ่งปีหลัง รวมถึงไอโฟนรุ่นใหม่ รองรับการใช้งาน 5G จากปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนรองรับ 5G จำหน่ายในท้องตลาดเกือบ 20 รุ่น

 

เอไอเอสลุย 5G คนเมือง

โดยนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่าปีนี้ได้เตรียมงบลงทุนเครือข่ายไว้ที่ 35,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งรวมระยะเวลาที่ผ่านมาเอไอเอสมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทยกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เอไอเอสมองว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเหมือนกับสาธารณูปโภคอื่นๆ ถึงแม้ว่าภาพรวมอีโคซิสเต็มของประเทศ ไทยอาจจะยังไม่พร้อมรองรับการมาของ 5G แต่เอไอเอสยังเดินหน้าขยายการให้บริการ5G ในพื้นที่ กทม. ก่อน รวมถึงขยายการลงทุนในพื้นที่ที่มีการใช้งาน 4G หนาแน่น บนคลื่น 2600MHz

นอกจากนี้เอไอเอสยังให้ความสำคัญกับการขยายโครงข่ายการให้บริการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เนื่องจาก 5G เป็นภารกิจของประเทศ และยูสเคสส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มี 5G ปัจจุบันเอไอเอส 5G ได้ให้บริการครอบคลุมในพื้นที่ EEC แล้ว 100%

“ความท้าทายของเอไอเอสคือ 5G มีจริง แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนสัมผัสได้และรับรู้ได้อุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ยากเพราะการทำงานต้องปรับแต่งให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรม (Customize) เพื่อตอบโจทย์ที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งในปีหน้าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น”

 

สิ้นปีคลุม 50% กทม.

ปัจจุบันเอไอเอสมีจำนวนผู้ใช้งาน 41.1 ล้านเลขหมาย มีสถานีฐาน 1.61 แสนสถานี จุดให้บริการไวไฟ (WiFi) 1 แสนจุดทั่วประเทศ เอไอเอส ไฟเบอร์ 8 ล้านครัวเรือน โดยเปิดให้บริการเครือข่าย 5G SA (Stand Alone) ซึ่งเป็นสถานีฐาน 5G โดยเฉพาะที่จะให้ความเร็วในการเชื่อมต่อที่เสถียร และมีความหน่วงต่ำกว่าสถานีฐานแบบ NSA (Non-Stand Alone) ซึ่งเป็นสถานีฐานที่ผสมผสานระหว่าง 4G และ 5G โดย 5G SA จะให้บริการในกรุงเทพฯ และพื้นที่ EEC ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และจะให้บริการทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2563 ทั้งนี้คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะครอบคลุมประชากรในพื้นที่กรุงเทพกว่า 50% โดยจะมีลูกค้าใช้งานมือถือ 5G SA ประมาณ 1 แสนราย และในปี 2567 - 2568 จะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 5G มากกว่า 75% ของประชากรในประเทศไทย

 

ทุ่มโครงข่ายหมื่นล้าน

ด้านนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าผนการดำเนินงานของดีแทคปีนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 8,000-10,000 ล้านบาท เพื่อขยายโครงข่าย 2300 MHz เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่สมาร์ทโฟนกว่า 76% ของดีแทคสามารถรองรับการใช้งานได้ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-TDD กว่า 20,000 สถานีฐาน จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 18,000 สถานีฐาน ทั้งนี้ในไตรมาส 2 ได้เริ่มติดตั้งสถานีฐาน 5G บนคลื่น 26 GHz และทดสอบการใช้งานสำหรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เพื่อให้บริการในไตรมาส 3 ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นั้นยังขึ้นอยู่กับทาง กสทช. ว่าจะอนุญาตให้ใช้ได้เมื่อไหร่

นายชารัด กล่าวต่อไปว่า ดีแทคมองว่าเนื่องจากอีโคซิสเต็มส์ของไทยนั้นยังไม่พร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G อีกทั้งการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคทั่วไปนั้นใช้ระยะเวลามากกว่า 36 เดือน ซึ่งผู้ใช้ไม่ได้มีเครื่องที่สามารถรองรับการใช้งานได้ ดังนั้นการปรับปรุงเครือข่าย 4G-TDD ให้มีประสิทธิภาพจะเป็นประโยชน์กับลูกค้าได้จริงมากกว่าการนำเงินไปลงทุนด้านอื่น โดยมองว่า 5G ยังไม่พร้อมในขณะนี้ ปัจจุบันดีแทคมีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 18.8 ล้านราย ซึ่งมีจำนวนลูกค้าลดลง 835,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว ที่คาดว่าจะหายไปกว่า 80%”

 

ทรูเดินหน้าสร้างยูสเคส

สำหรับความเคลื่อนไหวค่ายทรู โอเปอเรเตอร์รายเดียวที่มีคลื่นครบถึง 7 ย่านความถี่ โดยเฉพาะย่านความถี่ต่ำที่หลากหลายมากที่สุด มีแบนด์วิธมากที่สุด ทั้งคลื่น 700, 850 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ถือเป็นย่านความถี่ต่ำ (โลว์ แบนด์) รวมทั้งยังมีคลื่นความถี่กลางทั้ง 1800, 2100, 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ย่านกลาง (มิด แบนด์) และคลื่นความถี่สูง 26 กิกะเฮิรตซ์ (ไฮ แบนด์) เดินหน้าความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งโรงพยาบาล, สถาบันการศึกษา,ท่องเที่ยว, ค้าปลีก, พลังงาน และ รัฐสภา พัฒนา และทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี 5G รวมถึงการวางโครงข่ายให้บริการ 5G ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะได้เห็นการใช้งาน 5G สำหรับอุตสาหกรรมจำนวนมากเกิดขึ้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563