สตาร์ทอัพกัดฟันสู้โควิด ดีป้าหนุน พัฒนาสมาร์ทซิตี้

01 ส.ค. 2563 | 07:30 น.

 

จบไปแล้วกับโครงการเร่งการเติบโตดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเมืองอัจฉริยะ Smart City” หรือ depa Accelerator Program (ASEAN’s First Smart City Accelerator) จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจึงทำให้โครงการยืดเยื้อมาจนถึงตอนนี้ ล่าสุดได้มีการประกาศผลผู้ชนะในโครงการ ได้แก่ ENRES สตาร์ทอัพด้านการบริหารจัดการพลังงานภายในอาคารด้วยการนำเทคโนโลยี AI และ IoT มาใช้ ขณะที่ภาพรวมสตาร์ทอัพไทยหลังยุคโควิดนั้นต่างก็มีทั้งรายที่ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบแต่ก็ยังเดินหน้าปรับกลยุทธ์เพื่อฝ่าวิกฤตินี้ไป

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” กล่าวว่า โครงการเร่งการเติบโตดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเมืองอัจฉริยะ “Smart City” หรือ depa Accelerator Program (ASEAN’s First Smart City Accelerator) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของดิจิทัลสตาร์ทอัพ ผู้เข้าร่วมโครงการ และสร้างเครือข่ายสนับสนุนเพิ่มโอกาสในการเติบโตสู่ระดับสากล โดยทีมที่ชนะเลิศในโครงการนี้ได้แก่ ENRES (Energy Response) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานทางเลือกใหม่ด้วยเทคโนโลยี AI ต้นแบบในการบริหารจัดการพลังงานที่ตอบโจทย์ปัญหาเมือง ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จากผู้สมัครเข้าร่วมทั้งสิ้น 165 ทีม ผ่านการคัดเลือกเหลือ 20 ทีม

 

สตาร์ทอัพกัดฟันสู้โควิด ดีป้าหนุน พัฒนาสมาร์ทซิตี้

 

ด้านนายกฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง ENRES (Energy Response) กล่าวเสริมว่า แพลตฟอร์ม ENRES นั้นได้ผ่านการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้เจ้าของธุรกิจสามารถรับรู้และแก้ไขปัญหาภายในอาคาร เรื่อง ระบบไฟฟ้า นํ้า อากาศ และพลังงานไฟฟ้า ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากพบปัญหาในเรื่องของ ระบบไฟฟ้า นํ้า อากาศ และพลังงานไฟฟ้า ของหน่วยงานและองค์กรที่มีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ การตรวจสอบและควบคุมทั้งหมดทั้งพื้นที่อาจมีหลายจุดที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้ดูแลเข้าไม่ถึง เราจึงมองว่าหากทำให้อาคารที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้ประหยัดพลังงานได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ ลดการใช้พลังงาน เพื่อสภาพแวดล้อมชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ดีขึ้น นับว่าเป็นมิติใหม่แห่งวงการสตาร์ทอัพไทยที่ได้ใช้นวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาแก้ไขปัญหาเมืองอัจฉริยะได้อย่างตอบโจทย์

 

 

ขณะที่ นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด (CMO) บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub หนึ่งในผู้เข้ารอบ 20 ทีมของโครงการ depa Accelerator Program เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บิทคับตั้งใจเข้าร่วมโครงการในฐานะที่เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งสิ่งที่จะทำในโครงการสมาร์ซิตี้คือการผลักดันรัฐบาลให้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น เพราะบล็อกเชนจะสามารถเชื่อมโยงและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนสิ่งที่มีมูลค่าให้กลายเป็น Tokenization รวมถึงการสร้างความปลอดภัยของข้อมูล หลังจากนี้บิทคับจะมีการต่อ ยอดธุรกิจด้วยการผลักดันการซื้อขายสินค้าด้วยเหรียญดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยตั้งเป้าที่จะเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบให้เป็นบล็อกเชนหลังบ้าน

ปัจจุบันบิทคับเรียกว่ามีผลกำไร และไม่ได้มีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและลบ แต่บิทคับได้มีการเตรียมการไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด ทั้งนี้เนื่องจากบิทคับเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้ผู้ใช้มีเวลาในการซื้อขายมากขึ้นโดยในปี 2562 บิทคับ มีการเติบโตประมาณ 300% จาก ปี 2561 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้เติบโตมากกว่า 500%

 

 

ด้านนายจีรยุทธ สุดเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด บริษัท Hisobus กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจหยุดชะงักรายได้กลายเป็นศูนย์ ซึ่งขณะนี้เริ่มกลับมาเป็นปกติ โดยล่าสุด Hisobus ได้รีแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ Vecabo โดยปรับโมเดลธุรกิจมาให้บริการโซลูชันที่เน้นการให้บริการด้านซอฟต์ แวร์สำหรับบริหารจัดการรถบัส รถตู้ ทั้งนี้มองว่าสมาร์ทซิตี้นั้นต้องเริ่มจากผู้ประกอบการที่มีความสมาร์ทก่อน ซึ่งโซลูชันนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนและรายได้ได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมองถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในโครงการสมาร์ทซิตี้ภูเก็ตที่ในอนาคตระบบการขนส่งจะมี ความเชื่อมโยงกันในหลายพื้นที่ ขณะที่การต่อยอดธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด- 19 นั้นเรื่องของความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นเรื่องที่สำคัญในการเดินทางโดย Vecabo จะเป็นตัวกลางในการตรวจสอบหรือติดตามการเดินทางที่มีความเสี่ยง ที่หลังจากนี้จะเน้นให้บริการตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ควบคู่กันไปกับโมเดลเดิมอีกด้วย 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,597 หน้า 16 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม 2563