ปรับตัวสู่องค์กรชาญฉลาด รับแข่งขันหลังโควิด

01 ส.ค. 2563 | 12:30 น.

เอสเอพี เผยผลสำรวจระบุว่าผู้นำองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าวิกฤติโควิด-19 กระทบกับการดำเนินธุรกิจ พร้อมผลักดันองค์กรสู่ “อินเทลลิเจนท์ เอ็นเตอร์ไพรซ์” แนะเร่ง ‘พัฒนานวัตกรรม และ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

นางสาวเรเชล บาร์เจอร์ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการของ เอสเอพี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดตํ่าสุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาและกำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว สะท้อนสัญญาณเริ่มต้นแข่งขันทางธุรกิจครั้งใหม่ ดังนั้นประเทศและองค์กรที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจและก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วย่อมสามารถทิ้งห่างคู่แข่งได้ ในทางกลับกันประเทศและองค์กรที่ใช้กลยุทธ์รอดูสถานการณ์ (wait and see) อาจก้าวตามไม่ทันคู่แข่ง

สิ่งสำคัญสุดในการวางกลยุทธ์ขององค์กรระยะยาว คือ ต้องไม่คาดหวังว่าทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาวะปกติเหมือนที่ผ่านมา ในยุค new reality องค์กรที่หันมาใช้เทคโนโลยีที่มีความชาญฉลาด และปรับตัวสู่การเป็น อินเทลลิเจนท์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จะสามารถเพิ่มศัยกภาพในการทำงานภายในองค์กร โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง (do more with less) เพื่อส่งมอบประสบการณ์และบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า สามารถบริหารจัดการซัพพลายเชนได้คล่องตัว และแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้องค์กรในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

 

เรเชล บาร์เจอร์

 

 

ผลสำรวจเผยว่า 63% ของผู้นำองค์กรธุรกิจในภูมิภาคนี้ มองเห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและแรงจูงใจในการซื้อของลูกค้ามาตั้งแต่ต้นปี 2563 ขณะที่ 21% ยังขาดความเข้าใจและอินไซด์เชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ องค์กรส่วนใหญ่ยังยึดกับแผนการบริหารแบบ ‘เชิงรับ’ โดยรอให้ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักจากโควิด-19 คลี่คลายในเวลาที่เหมาะสม

แม้ว่าปัจจุบันองค์กรต่างๆ จะปรับกระบวนการทำงานไปสู่รูปแบบอี-คอมเมิร์ซและการขายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ธุรกิจขนาดเล็กยังคงมีความกังวลต่อค่าใช้จ่ายสำหรับการปรับใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่องค์กรธุรกิจกว่า 20% เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับกลยุทธ์ด้าน ประสบการณ์ใหม่ลูกค้า (Customer Experience) เพื่อตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในแพลตฟอร์มต่างๆ

 

นอกจากนี้การบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนและงานโอปอเรชันเป็นอีกด้านที่องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญ โดย 22% ขององค์กรธุรกิจกำลังวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการซัพพลายเชนและงานโอปอเรชันในอนาคต นอกเหนือจากรูปแบบการบริโภคของลูกค้าที่เปลี่ยนไป มาตรการล็อกดาวน์ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านซัพพลายเชน เป็นไปในรูปแบบ Stop-go pattern ซึ่งมีการหยุดพักสลับกับเดินหน้าต่อในการทำธุรกิจร่วมกัน

เนื่องจากองค์กรต่างๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามปกติ (business-as-usual) ได้ ผู้นำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนจึงจัดลำดับความสำคัญขององค์กรใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การทำ business transformation หรือปรับวิธีในการทำธุรกิจ (21%) รองลงมาคือการทำ Customer engagement หรือสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (15%) การปรับ ปรุงกระบวนการทำงานทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (14%) การสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ (12%) และการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการซัพพลายเชน (9%) ตามลำดับ

 

เอสเอพี พร้อมผลักดันให้องค์กรธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเดินหน้าสู่การเป็น อินเทลลิเจนท์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ เพื่อรับมือและลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีความชาญฉลาดหลากหลายรูปแบบที่จะสามารถช่วยองค์กรพัฒนานวัตกรรมและเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจได้ อาทิ เทคโนโลยีที่มีความชาญฉลาด (Intelligent technologies) ทำให้เห็นข้อมูลต่างๆ ขององค์กร เช่น ข้อมูลด้านบุคลากร ข้อมูลด้านสินทรัพย์ แบบเรียลไทม์, ปัญญาประดิษฐ์ และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (Artificial Intelligence & Machine Learning) ที่สามารถใช้ในการประเมินผลและวางแผนการดำเนินงาน และ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robotic Process Automation) ที่สามารถแบ่งเบาภาระงานที่ต้องใช้แรงงานคนในการปฏิบัติการ เพื่อให้พนักงานไปโฟกัสกับงานด้านอื่นๆ ที่มีคุณค่ามากกว่า 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,596 หน้า 16 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2563