อี-คอมเมิร์ซ ปี 63 แตะ 2.2 แสนล้าน โควิด-19 ดันสินค้าสุขภาพโต

23 พ.ค. 2563 | 03:30 น.

คาดการณ์ปี 2563 มูลค่า อี-คอมเมิร์ซ ไทยโตแตะ 2.2 แสนล้าน วิกฤติโควิด-19 ดันยอดซื้อสินค้าสุขภาพ และความงามพุ่ง จากคนแห่ซื้อหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สวนทางสินค้าแฟชั่น รถ และอุปกรณ์มือถือยอดซื้อวูบ

    อี-คอมเมิร์ซ ปี 63 แตะ 2.2 แสนล้าน โควิด-19 ดันสินค้าสุขภาพโต    

     นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2563 แม้จะเกิดวิกฤติ โควิด-19 แต่คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด อี-คอมเมิร์ซ ในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นประมาณ 35% หรือราว 220,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ในปี 2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนมูลค่าตลาด อี-คอมเมิร์ซ เมื่อเทียบกับมูลค่าค้าปลีกอยู่ที่ราว 3% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 163,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่า เฉพาะสินค้าที่จับต้องได้ไม่รวมธุรกิจบริการหรือดิจิทัลคอนเทนต์ ต่างๆ โดยในปี 2562 ช่องทาง อี-มาร์เก็ตเพลส เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากเพิ่มขึ้นเป็น 47%, โซเชียลมีเดียลดลงเหลือ 38% และ Brands.com ลดลงอยู่ที่ 15% โดยมีการประมาณการส่วนแบ่งตลาดของผู้เล่นหลัก 2 ราย คือ ช้อปปี้ 54% และลาซาด้า 46% ในส่วนของอี-มาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซ เฟซบุ๊กมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ 42% ไลน์มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 34%, อินสตาแกรม 19% และทวิตเตอร์ อยู่ที่ 5%

อี-คอมเมิร์ซ ปี 63 แตะ 2.2 แสนล้าน โควิด-19 ดันสินค้าสุขภาพโต
    ทั้งนี้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 การเติบโตของตลาด อี-คอมเมิร์ซ ในหมวดสินค้าสุขภาพและความงามอยู่ที่ราว 34%, สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน 34%, หนังสือ 27%, เครื่องใช้ไฟฟ้า 22%, คอมพิวเตอร์ 4% และเฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ภายในบ้าน 2% ซึ่งเมื่อเทียบในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 พบว่าโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร เติบโตลดลง 27%, กีฬาสัตว์เลี้ยงลดลง 20%, เสื้อผ้าและแฟชั่นลดลง 41% และรถ ยานพาหนะ เติบโตลดลง 44% โดย 5 อันดับสินค้าในกลุ่มสุขภาพและความงามที่คนสนใจซื้อมากที่สุดในช่วงวิกฤติ โควิด-19 ได้แก่ หน้ากากอนามัย, แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เจลล้างมือ และสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่มีความสนใจซื้อเติบโตขึ้นถึง 131% ขณะที่สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนสนใจซื้อมากที่สุดในช่วงวิกฤติ โควิด-19 ได้แก่ เครื่องกรองอากาศ, เครื่องดูดฝุ่น, เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, หม้อและกระทะไฟฟ้า โดยมีความสนใจซื้อที่เติบโตขึ้นถึง 145% และสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคที่คนสนใจซื้อมากที่สุดในช่วง วิกฤติ โควิด-19 ได้แก่ นํ้ายาฆ่าเชื้อโรค, ทิชชู่เปียก, กุนเชียง, ข้าว และ สุรา โดยมีความสนใจซื้อที่เติบโตขึ้นมากถึง 269% นอกจากนี้สินค้าที่มีการซื้อขายผ่าน อี-คอมเมิร์ซ ในหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่นที่คนเลิกซื้อในช่วงวิกฤติ โควิด-19 ได้แก่ นาฬิกาข้อมือ, กระเป๋า, รองเท้าผ้าใบผู้หญิง และรองเท้ากีฬาโดยมีความสนใจซื้อที่ลดลง 46%

    ขณะที่แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส ในปัจจุบันพยายามปรับตัวเป็นโซเชียลมีเดียเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคคนไทยที่มีพฤติกรรมชอบแชตก่อนตัดสินใจซื้อ จึงทำให้มีการเพิ่มฟีเจอร์แชตขึ้นมา รวมถึงฟีเจอร์ไลฟ์ที่เพิ่มเข้ามาในปี 2562 สำหรับธุรกิจที่ปรับตัวได้ไม่ค่อยดีนักในช่วงวิกฤติ โควิด -19 ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้สร้างสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ไว้ก่อน ซึ่งก็คือฐานลูกค้าหรือผู้ติดตามที่อยู่บนช่องทางออนไลน์ ทำให้เห็นว่าในยุคนี้ฐานลูกค้านั้นเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความสำคัญมาก นอกจากนี้ในช่วงวิกฤติของ โควิด-19 ธุรกิจไทยหลายรายที่ได้รับผลกระทบได้มีการทำงานร่วมกับไพรซ์ซ่า โดยสามารถผลักดันยอดขายผ่านช่องทาง อี-คอมเมิร์ซ เปลี่ยนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ให้เติบโตได้มากกว่า 100% ซึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยน แปลงไปอย่างเห็นได้ชัดแทบจะทุกแบรนด์ที่ไม่เคยขายสินค้าผ่าน อี-คอมเมิร์ซ มาก่อนจะมีการใช้โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นช่องทางแรกในการขาย และการขายสินค้าผ่านไลฟ์ คอมเมิร์ซในช่วงนี้เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว

    “อย่างไรก็ตามเชื่อว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเมื่อสถานการณ์ของ โควิด -19 กลับมาเป็นปกติแล้วนั้น วิถีชีวิตของคนไทยก็จะกลับเข้าสู่การซื้อสินค้าแบบออฟไลน์เหมือนเดิม การไปห้างสรรพสินค้ายังเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นชินและมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง อี-คอมเมิร์ซ อยู่แต่จะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบออมนิแชนเนลที่จะเลือกซื้อผ่านช่องทางที่สะดวก ขณะที่ธุรกิจอะไรก็ตามที่ยังเชื่อว่าไม่สามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ก็จะต้องปรับมุมมองใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น การดีลิเวอรี อีกทั้งการขายสินค้าออนไลน์อย่ามองแค่การขายสินค้าที่เป็น กระแส แล้วแห่ไปขายตามๆ กันให้มองไปในอนาคตระยะยาวว่าช่วงครึ่งหลังของปีคนต้องการใช้อะไร มองไปถึง New Normal เพราะจากนี้ อี-คอมเมิร์ซ จะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจค้าขายในยุคหลัง โควิด-19 

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,577 หน้า 16 วันที่ 24 - 27 พฤษภาคม 2563