ระดมทุนออนไลน์ ตั้ง‘ธนาคารหน้ากาก’ สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน

30 มี.ค. 2563 | 00:00 น.

 

ปัญหาการกักตุน และกำลังการ ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Medical Mask) ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ ทำให้ทุกวันนี้รัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายตัวไปสู่วงกว้างมากขึ้น จึงก่อให้เกิดแนวคิดของ กลุ่มสตาร์ตอัพในการก่อตั้งโครงการธนาคารหน้ากาก (Mask Bank) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

นางสาวสิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ หรือเภสัชกร “บิ๊นท์” นางสาวไทย ปี 2562 และ Miss International 2019 ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งโครงการธนาคารหน้ากาก เปิดเผยว่า โครงการธนาคารหน้ากาก ก่อตั้งขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องใช้ อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันหน้ากากอนามัยที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดมีราคาที่แพงมาก ซึ่งโครง การนี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับประเทศ โครงการธนาคารหน้า กากเป็นโครงการระดมทุน (Crowdfunding) และรับบริจาค (Donation) โดยประชาชน สามารถจองซื้อหน้ากากอนามัยได้ในราคาชิ้นละ 2.50 บาทไม่จำกัดจำนวน ซึ่งการจองซื้อหน้ากากอนามัยจากทางโครง การ จะเป็นการซื้อเพื่อใช้งานเองและเพื่อการบริจาคให้หน่วยงานสาธารณสุข โรงเรียน และองค์กรการกุศลต่างๆ ตามที่ผู้ซื้อประสงค์ ในสัดส่วน 1:1 (ซื้อใช้เอง 1 ชิ้น : บริจาค 1 ชิ้น) เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนหน้ากากและสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน  และคาดว่าปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยจะทวีความรุนแรง หากการระบาดของไวรัสในประเทศ ไทยเข้าสู่ระดับ 3 ยิ่งจำนวนผู้ติดเชื้อขยายวงกว้างออกไปมากเท่าใด การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จะยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น

 

ระดมทุนออนไลน์  ตั้ง‘ธนาคารหน้ากาก’  สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน


 

“การระดมทุนในการผลิตหน้ากากนั้น จะมีการสั่งจองสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ล่วงหน้าโดยเป็นการจองเพื่อการใช้งานในระยะยาวตามจำนวน ความต้องการใช้จริงของแต่ละคนหรือแต่ละครอบครัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องกักตุนโดยการควบคุมราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โครงการนี้จะตอบโจทย์และแก้ปัญหาความไม่สมดุลของดีมานด์ ซัพพลาย ซึ่งเชื่อว่าปัญหาในอนาคตอย่างปัญหาฝุ่น ในระยะยาวหน้ากากมีความจำเป็นสำหรับการป้องกันสุขภาพ

สำหรับการผลิตแต่ละล็อตใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ผลิตได้ 1.2 แสนชิ้นต่อวัน หรือราว 43 ล้านชิ้นต่อปี ครอบคลุมยอดที่มีการสั่งจองเข้ามา โครงการนี้จะเป็นการวางแผนระยะกลางและระยะยาวของประเทศ หลังจากการระดมทุนจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรได้ภายใน 20 วัน และพร้อมผลิตได้ภายใน 60 วันอย่างเร็วที่สุด สำหรับเป้าหมายในการเปิดโรงงานในทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งาน และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เบาบางลง โรงงานสามารถกลับมาผลิตหน้ากากชนิดอื่นๆ แทน

 

ด้านนางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช นักเดินทางเจ้าของรายการท่องเที่ยว The Passion Thailand ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารหน้ากาก กล่าวว่าปัญหาในเรื่องการกักตุนสินค้า ทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด และสร้างความตื่นตระหนกเพิ่มขึ้นของคนในสังคม อีกทั้งยังมีคนที่ฉกฉวยโอกาสในการแสวงหากำไรบนความเดือดร้อนของผู้อื่น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โครงการธนาคารหน้ากาก จะระดมทุนโดยให้ประชาชนทุกคนสามารถจองซื้อหน้ากากอนามัยได้ในราคาชิ้นละ 2.50 บาทไม่จำกัดจำนวน ซึ่งเมื่อ ซื้อได้ไม่จำกัดจำนวนจะมีผลทางจิตวิทยาทำให้ไม่ต้องกักตุน ขณะที่คนไทยยังไม่เคยประสบกับวิกฤติไวรัสในรูปแบบนี้ จึงต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวและวางแผนเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้สำหรับการจัดส่งหน้ากากอนามัยนั้นจะมีการจัดส่งให้ถึงบ้าน ไม่ต้องเดินทางออกมารับเองเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม-1 เมษายน 2563