เอไอเอส ลุยIoT องค์กร ชี้ 5G ปลดล็อกข้อจำกัด

26 มี.ค. 2563 | 03:00 น.

 

เอไอเอส เดินหน้าบุกตลาด IoT องค์กร เร่งผนึกพาร์ตเนอร์สร้างอีโคซิสเต็ม ชี้ 5G ปลดล็อกความเร็ว-ความหน่วง ช่วยสั่งการอุปกรณ์ IoT แบบเรียลไทม์

นางสาวอัศนีย์ วิภาตเวทย์ หัวหน้างานผลิตภัณฑ์ลูกค้าองค์กรและบริการระหว่างประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ยุทธศาสตร์ทางด้านอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ของเอไอเอสคือ การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ทั้งผู้วางระบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรงงาน และพลังงาน ตลอดจนผู้ผลิตอุปกรณ์ เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ อีโคซิสเต็ม นำเทคโนโลยี IoT เข้าไปช่วยภาคธุรกิจทุกภาคส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้

โดยขณะนี้เอไอเอสมีพาร์ตเนอร์ในอีโคซิสเต็มอยู่ประมาณ 1,600 ราย และเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นผู้ให้บริการ 5G ที่ครอบคลุมทุกย่านความถี่ เป็นพื้นฐานการสื่อสารของการนำ IoT เข้าไปตอบโจทย์คอนซูเมอร์ ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย เช่นเดียวกับองค์กรเอกชน และภาครัฐ ที่สามารถนำ IoT ไปใช้เพื่อลดขั้นตอนหรือกระบวนการทำงาน ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้เอไอเอสทำงานร่วมกับ พาร์ตเนอร์ในอีโคซิสเต็ม เพื่อ สร้างยูสเคส โซลูชันที่เข้าไปใช้แก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรมขึ้นมา

 

เอไอเอส  ลุยIoT องค์กร  ชี้ 5G ปลดล็อกข้อจำกัด


 

ทั้งนี้กลุ่มที่ตื่นตัวกับการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้งานขณะนี้ คือ กลุ่มทราน สปอร์ตเตชั่น ขนส่งคน โดยต้องการนำมาใช้ทางด้านความปลอดภัย การลดต้นทุน และเป็นไปตามกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโลจิสติกส์ ส่งสินค้า ที่ต้องการนำ IoT มาใช้ควบคุมติดตามคนขับรถ ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ต้องการนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์สร้างบ้านอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทโฮม เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้าไปแก้ปัญหา ต้องการนำระบบออโตเมชันเข้ามาใช้ เพื่อลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีการนำ IoT ไปใช้ตรวจจับ จัดเก็บข้อมูลการใช้งานอุปกรณ์ หรือเครื่องจักร เพื่อแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงล่วงหน้า

 

การมาของ 5G จะทำให้การใช้งาน IoT มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดย 5G จะเข้ามาแก้ปัญหาในอดีตการใช้งาน IoT ที่ในอดีตเครือข่าย 4G ไม่สามารถทำได้ เช่น การควบคุมระบบแขนกล ด้วยคุณสมบัติความเร็วของ 5G เร็วกว่า 4G มากถึง 10-20 เท่า และความหน่วงของสัญญาณลดลงถึง 10 เท่า สามารถส่งข้อมูลสั่งการไปยังระบบแขนกลได้แบบเรียลไทม์ ทำให้อุปกรณ์แขนกลทำงานได้แม่นยำ และรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ 5G ยัง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มการประยุกต์ ใช้งาน IoT ของภาคธุรกิจ เช่น การทำป้ายโฆษณาอัจฉริยะในกลุ่มธุรกิจรีเทล

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19-21 มีนาคม 2563