ไอบีเอ็มหนุนเครื่องมือพัฒนายาต้านโคโรนา

20 ก.พ. 2563 | 08:51 น.

ไอบีเอ็มสนับสนุนการพัฒนายาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เปิดเครื่องมือ IBM Clinical Development ให้ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย"

จากความกังวลของทั่วโลกที่มีต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และความพยายามจากทุกภาคส่วนในการก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส วันนี้ ไอบีเอ็มจึงได้ประกาศสนับสนุนหน่วยงานวิจัยพัฒนา สถาบันทางการแพทย์ ตลอดจนโรงพยาบาลต่างๆ ที่กำลังพัฒนายาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเปิดให้ใช้เครื่องมือ IBM Clinical Development (ICD) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพร้อมร่วมทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้เพื่อเร่งการพัฒนาตัวยาสำหรับต้านไวรัส

ไอบีเอ็มหนุนเครื่องมือพัฒนายาต้านโคโรนา

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าหนึ่งในกุญแจสำคัญของการควบคุมการแพร่ระบาดคือการเร่งวิจัย พัฒนา และเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงการรักษาด้วยตัวยาที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่    ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการศึกษา ต่างพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการหาแนวทางพัฒนาตัวยาเพื่อหยุดยั้งไวรัสนี้ และในฐานะที่ศูนย์วิจัยไอบีเอ็มเป็นหนึ่งในแล็บขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีก้าวล้ำมากมาย วันนี้ไอบีเอ็มมีความยินดีที่จะนำเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็ม เข้าสนับสนุนและทำงานร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาตัวยาที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา”

 

ICD เป็นแพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับการวิจัยทางคลินิก โดยช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการวิจัยทางคลินิก ผนวกรวมรายละเอียดต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน URL ที่สามารถเปิดจากอุปกรณ์ใดก็ได้ที่เปิดหน้าเว็บไซต์ได้ โดย ICD เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลที่มีเครื่องมือและบริการเฉพาะสำหรับการวิจัยทางคลินิก และมีความยืดหยุ่นพร้อมรองรับการขยายการใช้งาน ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาได้มีนักวิจัยในสาขาชีววิทยาศาสตร์เข้าใช้งาน ICD เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยาใหม่อย่างต่อเนื่อง

 

ไอบีเอ็มมีแผนสนับสนุนการวิจัยตัวยาเพื่อยับยั้งไวรัสโคโรนา โดยจะเปิดให้หน่วยงานวิจัยทางคลินิกที่เข้าเกณฑ์สามารถเข้าใช้ระบบ ICD ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และร่วมสนับสนุนเทคโนโลยีสำหรับการสร้างฐานข้อมูล รวมถึงสอนการใช้ระบบ ICD ให้ตามความเหมาะสม