ทีโอที เริ่มนำร่อง 5G

20 ก.พ. 2563 | 02:31 น.

ผนึก ม.มหิดล ดันเฮลท์แคร์และอุตสาหกรรมเฮลท์เทคของไทย

     นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ บมจ.ทีโอที รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ทีโอที ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมเตรียมติดตั้งเสาสัญญาณ 4G/5Gที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อนำระบบการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ให้บริการสาธารณสุข (Public Healthcare) และอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ (Health Tech) ของประเทศไทย 
       นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมประเทศให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยนักวิจัยรุ่นใหม่แทนการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ  โดยเทคโนโลยี 4G / 5G จะสร้าง Big Data ขนาดใหญ่ในการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 

                                                        ทีโอที เริ่มนำร่อง 5G

      ด้านรศ.ดร.จักรกฤษณ์  ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การลงนามบันทึกืข้อตกลงในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผนึกกำลังท่ามกลางกระแสยุคดิสรัพชั่น สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพความแข็งแกร่งทางด้านโทรคมนาคมและการศึกษาวิจัย รวมถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนากำลังคน บุคลากร นักวิจัยและนักศึกษา ให้มีองค์ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายกับการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ รวมถึงการนำระบบสารสนเทศ Network มาใช้ในการพัฒนาด้านการสาธารณสุข (Public Healthcare) และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (Health Tech) ในประเทศไทย 


     สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลา 5 ปี โดยระยะแรกจะเป็นการนำระบบเทคโนโลยี 4G ของ ทีโอที มาสนับสนุนระบบสารสนเทศในการติดต่อต่อสื่อสารของ Mobile Stroke  Unit ภายในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั้งนี้ เป็นรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Mobile Stroke Unit) ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญได้รวดเร็วขึ้น 

                                                      ทีโอที เริ่มนำร่อง 5G
 

        คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมที่จะร่วมทำงานและสนับสนุนความก้าวหน้าเชิงวิชาการกับทีโอที ทั้งในทางทฤษฎี ทักษะปฏิบัติและ Soft Skills ด้วยองค์ความรู้และห้องปฏิบัติการ  เช่น 1. ศูนย์บ่มเพาะและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม (Innogineer Studio) เปรียบเสมือนเวิร์คช็อปบ่มเพาะนวัตกรรมและสตาร์ทอัพครบครันเครื่องมือไฮเทคที่เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีและ เมคเกอร์สามารถเข้ามาทำโปรเจคต่าง ๆ สร้างชิ้นงานและต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์จากความฝันสู่ความเป็นจริง, 2. Innogineer BAY ศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก, 3. Digital Forensics Lab ศูนย์ นิติวิศวกรรมและการสืบค้นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ , 4. BART LAB ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ ,5. University-Industry Co-Working Space ศูนย์บริการนวัตกรรมและให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และ  ศูนย์ LogHealth 
     

    นอกจากนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ศึกษาวิจัยและออกแบบพัฒนาระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาล และดำเนินการจัดทำแผนแม่บทระบบ Big Data เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภาคสาธารณสุขของประเทศ (Healthcare Logistics Big Data) ตลอดจนห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยที่เชี่ยวชาญก้าวล้ำของคณะต่างๆ ใน ม.มหิดล อีกด้วย รวมทั้งโครงการในอนาคต อาทิเช่น ศูนย์ทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์, ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง เป็นต้น