ศึกซูเปอร์แอพ ‘แกร็บ-ไลน์’ เปิดแนวรบชิงแชร์หัวเมือง

22 ก.พ. 2563 | 05:20 น.

 

ยักษ์ใหญ่ซูเปอร์แอพ เดินหน้ารุกปักธงพื้นที่หัวเมืองแกร็บผุดโมเดลมินิ-จีซี ศูนย์ธุรกิจฯสาขาย่อยดึงผู้ประกอบการบริหารงานดูแลคนขับต่างจังหวัด ด้านไลน์แมนยํ้ากลยุทธ์เร่งผนึกพันธมิตรร้านอาหาร

นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้อำนวยการแกร็บไบค์ และศูนย์ส่งเสริมธุรกิจแกร็บสาขาย่อย เปิดเผยว่า แกร็บได้มีการเปิดตัวโมเดลมินิ-จีซี (Mini-GC : Mini Grab Center) หรือโมเดลธุรกิจที่แกร็บนำมาใช้เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพและต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่แกร็บนำโมเดลนี้มาใช้ ซึ่งการนำโมเดลมินิ-จีซีมาใช้ในแต่ละเมืองที่มีการขยายออกไปก็มีปัญหา หรือความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ความท้าทายคือการศึกษาและทำความเข้าใจตลาดอย่างรวดเร็ว โดยการขยายตลาดด้วยโมเดลมินิ-จีซีนั้นอาศัยความคุ้นเคยของคนในพื้นที่ทำให้แกร็บเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในต่างจังหวัดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะโฟกัสที่ธุรกิจอาหาร และบริการ 2 ล้อเป็นหลัก

 

ศึกซูเปอร์แอพ  ‘แกร็บ-ไลน์’  เปิดแนวรบชิงแชร์หัวเมือง

 

สำหรับศูนย์มินิ-จีซี นั้นสามารถแบ่งได้ 3 ขนาด ตามขนาดพื้นที่ซึ่งงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ ได้แก่ Size S ขนาด 48 ตารางเมตร เงินทุนเริ่มต้นประมาณ 30,000-50,000 บาท Size M ขนาด 60 ตารางเมตร เงินทุนเริ่มต้นที่ประมาณ 50,000-70,000 บาท Size L ขนาด 72 ตารางเมตร เงินทุนเริ่มต้นที่ประมาณ 70,000-100,000 บาท ทั้งนี้การกำหนดขนาดศูนย์มินิ-จีซี จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น ความหนาแน่นของประชากร หรือจำนวนผู้ใช้บริการในจังหวัดหรือพื้นที่นั้นๆ โดยแกร็บจะใช้บิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์และประเมินความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ ขณะที่จำนวนสาขาของมินิ-จีซีตอนนี้ยังไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับดีมานด์ในแต่ละจังหวัด


 

 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานการให้บริการของพาร์ตเนอร์คนขับ-ส่งอาหาร และประสานงานกับพาร์ตเนอร์ร้านค้า โดยแกร็บจะให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพ ซึ่งผู้ที่สนใจต้องผ่านการพิจารณาตาม หลักการ 3 .” คือ 1. ทุน คือต้องมีเงินทุนตั้งต้นและมีสถานะทางการเงินมั่นคง 2. ที่ คือมีความสามารถในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเปิดศูนย์ และ 3. ทัศนคติ คือจะต้องมีแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่และสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจของแกร็บ ซึ่งในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาแกร็บได้เริ่มทดลองใช้โมเดลมินิ-จีซี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันแกร็บมีศูนย์มินิ-จีซี ทั้งสิ้น 24 ศูนย์ ใน 17 จังหวัด และตั้งเป้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายในสิ้นปีนี้ ให้ครอบคลุม 30 จังหวัดทั่วประเทศ

แรกเริ่มคาดว่าผู้ใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัด ยังเข้าไม่ถึงบริการในรูปแบบนี้ แต่เมื่อมีการซอฟต์ลอนช์มินิ-จีซีกลับได้รับความสนใจจากผู้ขับขี่ที่เข้ามาสมัครร่วมงานเป็นจำนวนมากรวมถึงมีฐานผู้บริโภคที่รอใช้บริการของแกร็บ ซึ่งการเปิดตัวที่ผ่านมานั้นถือว่ายังเป็นรุ่นบุกเบิกที่ยังต้องเรียนรู้กันต่อไป โดยมินิ-จีซีเป็นเสมือนคอมมิวนิตีรูปแบบหนึ่งที่จะให้คนขับมาแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน

 

 

ปัจจุบันคนขับส่วนใหญ่ของแกร็บเป็นบริการ 2 ล้อที่มีอยู่กว่าแสนราย ทั้งพาร์ตไทม์และฟูลไทม์ สำหรับโมเดลรายได้ของมินิ-จีซีนั้นคือค่าคอมมิสชันที่แกร็บให้กับผู้ประกอบการขึ้นอยู่กับไซซ์และสัญญาที่ทำร่วมกัน โดยแผนในระยะยาวมองว่าเนื่องจากแกร็บเป็นซูเปอร์แอพแพลตฟอร์มที่สามารถหาโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับมินิ-จีซี ได้ สำหรับภาพรวมของบริการฟู้ดดีลิเวอรีที่ผ่านมานั้น ทำให้ร้านอาหารมียอดการสั่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 30% ปัจจุบันแกร็บมีรายได้จากส่วนแบ่งของยอดขายจากร้านอาหารราว 30-35% ซึ่งบริการฟู้ดดีลิเวอรีที่เข้ามานั้นจะทำให้ดีมานด์ของร้านอาหารเพิ่มขึ้น และการแข่งขันของธุรกิจในตลาดที่สูงจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ขณะที่ก่อนหน้านี้ซูเปอร์ แอพอีกรายอย่าง ไลน์แมนก็ได้มีการปักธงเดินหน้า 3 กลยุทธ์หลัก เพื่อตอบสนองการใช้งานของลูกค้าที่มีกว่า 3 ล้านรายต่อเดือน ด้วยการเร่งผนึกพันธมิตรขยายเครือข่ายร้านอาหารที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มจนครบ 1 แสนร้าน ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการ 7 เมือง ด้านจำนวนการสั่งอาหารเติบโตมากกว่า 3 เท่าปัจจุบันมีการขยายการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงพัทยา สมุทรสาคร และนครปฐม โดยในปีนี้มีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ให้บริการเป็น 15 จังหวัด นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องคุณภาพการบริการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการ บริการของพนักงานขับ พร้อมชูเรื่องราคาที่สมเหตุสมผลและตั้งเป้าสร้างธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี ของประเทศไทยในอนาคตให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563