Personalized เทรนด์รับสื่อคนยุคมิลเลนเนียล

19 ก.พ. 2563 | 00:00 น.

พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทรนด์ ของการใช้งานดิจิทัลแพลต ฟอร์มในยุค “Mobile-First” หรือการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นหลัก ผู้บริโภคทั้งกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennial) และเจน ซี (Gen Z) กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกำลังซื้อหลักในตลาด มีความหลากหลายมากขึ้น แม้แต่ครอบครัวที่อยู่อาศัยภายในบ้านหลังเดียวกันยังมีพฤติกรรมในการรับชมคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน อาทิ แม่ที่รับชมละครผ่านทางทีวี ขณะที่ลูกมีการติดตามความเคลื่อนไหวของละครผ่านทวิตเตอร์หรือรับชมย้อนหลังผ่านแพลตฟอร์มอื่น ทำให้แนวโน้มการบริโภคสื่อเปลี่ยนจากแชร์ระหว่างคนหมู่มากผ่านสื่อหลักเพียงไม่กี่ช่องทาง สู่การรับสื่อที่มีความเฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคล (Personalized) มากขึ้น

 

Personalized  เทรนด์รับสื่อคนยุคมิลเลนเนียล

 

นายปีเตอร์-ฌอง เดอ ครอน ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ มีเดียโดนัทส์ เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภค มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตราว 6.43 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งกว่า 3.18 ชั่วโมงใช้ไปกับการดูคอนเทนต์ สตรีมมิ่งบนสมาร์ทโฟนหรือดีไวซ์ต่างๆ ซึ่งคอนเทนต์ที่รับชมนั้นอาจเป็นคอนเทนต์เดียวกันแต่อยู่บนแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลาย รองลงมาคือการใช้งานโซเชียลมีเดียอยู่ที่ประมาณ 2.24 ชั่วโมง, การฟังเพลง 1.26 ชั่วโมง, และเกมหรือการรับชมคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเกม 1.10 ชั่วโมง ทั้งนี้ในแต่ละวันมีการใช้งานมือถือไปกับโมบายแอพพลิเคชันเฉลี่ย 3.40 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 91% ขณะที่ รูปแบบการเสพสื่อนั้นพบว่า ผู้ใช้งานมีการติดตั้งแอพพลิเคชันบนมือถือกว่า 80 แอพ แต่มีการใช้งานจริงเพียง 30 แอพต่อเดือน ซึ่งแอพพลิเคชันที่มีการใช้งานมากที่สุด ได้แก่ โซเชียลมีเดีย, แอพพลิเคชันเพื่อความบันเทิง, แอพสำหรับช็อปปิ้ง, แอพฟังเพลง และแอพเกม


 

“76% ของคนยุคมิลเลนเนียล มีความเห็นว่าโทรศัพท์มือถือจะไร้ค่าเมื่อไม่มีแอพพลิ เคชัน อีกทั้งวัยรุ่นจะมีความตื่นตัวต่อแอพพลิเคชันที่เกิดขึ้นใหม่และมีความสนใจที่จะทดลองใช้มากกว่าคนในวัยผู้ใหญ่”

ทั้งนี้เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือผู้บริโภคจะมองหาแอพพลิเคชันที่มีความเป็นชุมชน (Community) มากขึ้น ซึ่งเป็นเสมือนจุดศูนย์รวมของผู้ที่มีความคิดหรือความชื่นชอบในสิ่งที่คล้ายๆ กันมาอยู่ด้วยกัน การจัดแบ่งตามความชอบหรือความสนใจของแต่ละบุคคลไม่ได้เป็นการแบ่งแยก แต่แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ จะต้องมีรูปแบบหรือวิธีการในการเข้าถึงแต่ละชุมชนนั้นๆ

 

เนื่องจากแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียที่มีในปัจจุบันนั้นมีความเฉพาะเจาะจงต่อกลุ่มคนที่มีความสนใจที่แตกต่างกัน เทรนด์ของผู้ใช้งานจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มตามความชอบที่คล้ายๆ กัน ในแต่ละแอพพลิเคชัน โดยปี 2562 ที่ผ่านมาผู้ใช้มีการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กสลับไปมาระหว่าง 6 แอพ คาดการณ์ว่าในปี 2566 การใช้งานแบบสลับแอพไปมาระหว่างกันจะเพิ่มเป็น 10 แอพ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ใช้คนเดียวกันยังมีพฤติกรรมการใช้งานและการแสดงออกของตัวตนในแต่ละแพลตฟอร์มที่มีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้สำหรับความเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นนั้นในแง่ของธุรกิจ ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นมีเดียทัชพอยต์ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ของนักการตลาดว่าจะทำอย่างไรที่จะเข้าถึงผู้บริโภค ธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆ ควรที่จะออกแบบหรือรับมือด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีความเฉพาะเจาะจงเป็นปัจเจกบุคคลได้มากขึ้น

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563