เนคเทค ดันแพลตฟอร์ม IDA ขับเคลื่อน EECi

27 ม.ค. 2563 | 10:41 น.

เนคเทค-สวทช. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรลุข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการผลักดันแพลตฟอร์ม IDA หรือ Industrial IoT and Data Analytics Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มไอโอที (IoT) Big data อุตสาหกรรมและระบบวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิตและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและอนุรักษ์พลังงานให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพลตฟอร์ม IDA: Industrial IoT and Data Analytics Platform หรือแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ เนคเทค-สวทช. กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย   พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรรัฐและเอกชน

ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของ สวทช. โดยในปี 2564 ได้เสนอให้รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research) โดยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ขึ้นภายในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองนวัตกรรมเป้าหมายภายใต้ EECi ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะในอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นการช่วยลดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมและสามารถช่วยยกระดับการผลิตสู่ Industry 4.0 ได้ในอนาคต โดยพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้ การทดลองปฏิบัติจริง และกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ (System Integrator: SI) นวัตกร นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งแพลตฟอร์ม IDA ที่มีการเปิดตัวในวันนี้ก็นับเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนภายใต้ EECi ARIPOLIS แห่งนี้”

เนคเทค ดันแพลตฟอร์ม IDA ขับเคลื่อน EECi

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “เนคเทค-สวทช. ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 หลายผลงาน เช่น  (1) อุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit หรือ uRTU ใช้เชื่อมต่อเซนเซอร์ต่างๆ ในโรงงานขึ้นสู่ IoT คลาวด์ (2) NETPIE ซึ่งเป็น IoT คลาวด์ พัฒนาโดย เนคเทค และศูนย์ระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) สวทช. ซึ่งปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังบริษัทเอกชนและให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว แพลตฟอร์ม IDA สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายงาน เช่น (1) การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน (Energy Monitoring) เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน (2) การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ Overall Equipment Effectiveness (OEE) เพื่อเพิ่มผลผลิต (Productivity) แก่โรงงานอุตสาหกรรม (3) การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการผ่านโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 10-20 โรงงานในช่วงปี 2563 และขยายสู่ 500 โรงงานในระยะ 3 ปี โดยเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ เนคเทค-สวทช. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรเอกชนอื่นๆ ด้วย”

 

 

นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “แพลตฟอร์ม IDA เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นอย่างมาก จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ในราคาไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นการพัฒนาภายในประเทศโดยคนไทย”

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ภายในงาน Open house โดยผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนด้านการจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ประกอบด้วย 1.การประเมินระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามดัชนีชี้วัด (Smart Industry Readiness Index: SIRI) และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ  และ 2.การใช้งานแพลตฟอร์ม IDA ด้านการตรวจสอบและจัดการการใช้พลังงาน ประกอบด้วย เซนเซอร์ตรวจจับสัญญาณต่อเชื่อมผ่านอุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit (uRTU) ส่งข้อมูลสัญญาณต่างๆ ขึ้น NETPIE IoT platform ข้อมูลจะถูกนำไปแสดงให้เห็นบน Dashboard เพื่อแสดงสุขภาพของเครื่องจักร

ในส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้งานแพลตฟอร์ม IDA ได้แก่ 1.ประเทศไทย: IDA Platform จะรวบรวมและแสดงผลข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานแบบทันท่วงที (Real-time) ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในประเทศเห็นภาพรวมการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย และสามารถนำข้อมูล Industrial big data นี้ ไปใช้วางแผนการจัดการด้านพลังงานของประเทศได้อย่างแม่นยำ    2. สถานประกอบการนั้นผู้ประกอบการสามารถตรวจจับการใช้พลังงานในระดับเครื่องจักรแบบทันท่วงที (Real-time) ช่วยให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและบริหารจัดการพลังงานในสถานประกอบการของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถต่อยอดไปสู่การวัดประสิทธิภาพการผลิตของเครื่องจักร (Overall Equipment Effectiveness: OEE) และการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive maintenance) ต่อไป

สุดท้าย 3.ด้านเศรษฐกิจ   โดยส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทาน และเกิดมูลค่าการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการจากงานวิจัยไทย

จากความร่วมมือของพันธมิตรรัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยสถานประกอบการ/โรงงาน/บริษัท SME ให้สามารถยกระดับความสามารถสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนให้ประเทศไทยมี Big Data ข้อมูลสถานภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยในระดับมหภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายระดับชาติได้อีกด้วย ส่งผลให้นโยบาย Thailand 4.0 เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน