‘สมคิด’ถกลงทุน 5G วงในชี้‘ดีแทค’อาจถอย

27 มกราคม 2563

เผยหลังมีสัญญาณจาก “เทเลนอร์กรุ๊ป” รอประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ เผยคลื่นที่นำมาประมูล 5G ยังไม่สำคัญเท่าระบบ 4G ขณะที่อีก 4 ค่ายส่งสัญญาณร่วมวง จับตา 27 ม.ค.“สมคิด” ถกขับเคลื่อน 5G กับ กสทช.

กำลังกลายเป็นคำถามว่า ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ให้ผู้ที่รับเอกสารประมูล 5G มายื่นแสดงความจำนงเพื่อเข้าประมูล

มีหลายคนตั้งคำถามว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN ในเครือดีแทค จะรับเอกสารประมูล 5G หรือไม่ เพราะทั้ง เอไอเอส, กลุ่มทรู, ทีโอที และแคท ได้ส่งสัญญาณกันหมดแล้วว่าจะร่วมประมูล

แต่สำหรับ “ดีแทค” ในขณะนี้ต้องวัดใจผู้ถือหุ้น คือ เทเลนอร์กรุ๊ป หลังปลดฟ้าผ่านางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของดีแทค โดยแต่งตั้งนายชารัด
เมห์โรทรา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

● ย้อนรอย10โรคระบาดป่วนโลกเสียชีวิตกว่า50ล้านคน(มีคลิป)

● คนอู่ฮั่น ตะโกนลั่นเมือง "อู่ฮั่นสู้ตาย"(มีคลิป)

● จี้แลกรถเก่า ดีเซล4ล้านคัน ลดฝุ่นPM2.5

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีความเป็นไปได้ที่ ดีแทค อาจจะไม่ร่วมประมูลระบบ 5G ที่ กสทช.เปิดประมูลด้วยกัน 4 คลื่นความถี่อันได้แก่ คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ไม่เหมาะสำหรับให้บริการ 5G

“ถ้าเปรียบเทียบระหว่างระบบ 4G กับ 5G ระบบ 4G ทางดีแทค มีความสนใจมากกว่าเพราะจำนวนคลื่นมีประสิทธิภาพให้บริการดีกว่าระบบ 5G”

 

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เชื่อว่า “ดีแทค” คงไม่ถอนลงทุนในประเทศไทย ทั้งผลประกอบการรายได้ และกำไรสุทธิ ยังไปได้ดี แม้จำนวนตัวเลขผู้ใช้บริการลดลงมา นอกจากนี้แล้ว “ดีแทค” ยังจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ในวันที่ 27 มกราคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าประชุมถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย 5G ร่วมกับสำนักงาน กสทช. เนื่องจากที่ผ่านมาแนวทางการขับเคลื่อน 5G ของประเทศยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อาทิ การลงทุน และการต่อยอดการใช้งาน

ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ เอไอเอส กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ว่า เอไอเอส จะประมูลระบบ 5G ในย่านความถี่ใด

ล่าสุด เอไอเอส ร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมทดลองทดสอบการใช้งานจริง 5G ในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จ ซึ่งได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาโซลูชันในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตด้วย 5G ทดลองทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิรตซ์ ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็น Use Case จริงที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอนาคต ผ่านการสาธิตการบังคับรถยกของ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกล จากกรุงเทพฯ - สระบุรี เป็นครั้งแรกของภาคอุตสาหกรรมของไทยอีกด้วย

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563