ดึง‘เอไอ-บิ๊กดาต้า’ ปั้นแหลมฉบัง สู่‘สมาร์ทพอร์ต’

24 ม.ค. 2563 | 09:35 น.

 

ดีป้า เดินหน้าพัฒนาแหลมฉบังสู่ ท่าเรืออัจฉริยะ ล่าสุดโชว์คืบหน้าระบบ จัดคิวรถบรรทุก แก้ปัญหาจราจรหนาแน่น ลดมลพิษ พร้อมดึงเทคโนโลยี บิ๊กดาต้า-เอไอ บริหารจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูล

ในแต่ละปีมีรถบรรทุกขนส่งสินค้า ผ่านเข้าออกท่าเรือแหลมฉบังราว 8 ล้านทีอียู หรือคิดเป็น 80% เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถไฟและทางเรือชายฝั่ง ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดภายในท่าเรือและปัญหาด้านมลพิษจากท่อไอเสียปริมาณมาก ดีป้าจึงได้ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย พัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะด้วยดิจิทัล เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

ดึง‘เอไอ-บิ๊กดาต้า’  ปั้นแหลมฉบัง  สู่‘สมาร์ทพอร์ต’

 

นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานกิจการสาขา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า ได้ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย พัฒนาโครงการ ท่าเรืออัจฉริยะ” (Smart Port System Development Project) ของแหลมฉบัง ทั้งนี้ดีป้า ได้ใช้งบประมาณราว 10 ล้านบาท สนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยวัตถุประสงค์ที่จะให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะด้วยดิจิทัลแห่งแรกของประเทศ พร้อมขยายผลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งการดำเนินการระบบท่าเรืออัจฉริยะจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชนทุกท่าภายในท่าเรือแหลมฉบังเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรเวลาและจำนวนคิวต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบส่วนกลางที่จะพัฒนาขึ้น โดยเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง อาทิ ศุลกากร ที่มีบทบาทในการตรวจสอบสินค้าด้านหน้า (Main Gate)


 

 

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลที่ได้จากระบบเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สำคัญที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาระบบหลักในการบริหารจัดการการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง หรือระบบศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ประกอบการท่าเรือแหลมฉบัง (LCP Port Community System) เพื่อยกระดับสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะเทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงการพัฒนาระบบงาน Electronic Data Interchange (EDI) ช่องทางกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างระบบ เพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีเป้าหมายการพัฒนาแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563

“โครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการจราจรของการท่าเรือแหลมฉบัง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของระบบขนส่งตู้สินค้าใหม่ให้กระจายตัวไปในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม ขณะที่เรื่องของดาต้าจะช่วยทำให้เมืองมีความฉลาด ลดปัญหามลพิษจากรถที่ไม่ต้องจอดรอคิวนาน ซึ่งเป็นประโยชน์ของดิจิทัล โดยโครงการนี้สำเร็จแล้วกว่า 80% ทั้งนี้ตั้งเป้าให้มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมเพิ่มขึ้น 10% จากจำนวนรถขนส่งสินค้าทั้งหมด และสำหรับเฟส 2 ได้เตรียมประกาศดำเนินการต่อเนื่องซึ่งเร็วสุดคาดว่าจะเป็นช่วงเดือน มีนาคมปีนี้

 

 

ด้านนายทศพร รัตนถาวรกิจ กรรมการ บริษัท ดิจิทัล พอร์ท จำกัด ผู้พัฒนาระบบจองคิวรถบรรทุกเพื่อเข้าออกท่าเรือ (Truck Queue) กล่าวว่า ที่มาของการพัฒนาระบบดังกล่าวมาจากปัญหาของปริมาณรถขนส่งสินค้าที่เข้าออกบริเวณท่าเรือแหลมฉบังที่มีจำนวนมาก ส่งผลถึงเรื่องการจราจรติดขัดภายในท่าเรือหลายปีที่ผ่านมา โดยทรัค คิว สามารถกำหนดโควตาในการควบคุมปริมาณรถเข้าออก มีกราฟบอกปริมาณความหนาแน่นของการจราจร แต่ทั้งนี้การจองคิวอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะมีผู้ได้ประโยชน์เพียงแค่ 2 ฝ่ายคือ ผู้ส่งและท่าเรือ ควรจะมีผู้นำเข้า-ส่งออก เข้ามาร่วมในส่วนนี้ด้วย บริษัทได้เล็งเห็นถึงปัญหาจึงขอนำเสนอโครงการ สมาร์ทพอร์ต (Smart Port) หรือท่าเรืออัจฉริยะไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาระบบอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อเข้ามาแก้ปัญหา อาทิ ปริมาณความหนาแน่นจราจรในแต่ละช่วงเวลา การหมุนเวียนรถเข้าออก รวมถึงผลักดัน ให้มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันหลายระบบและสร้างฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ ผ่านระบบกลางหรือสมาร์ทพอร์ตและนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ในเบื้องต้นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อการบริหารจัดการรถร่วมกันของหลายภาคส่วน

นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชัน Smart Truck ที่ให้ผู้ขนส่งสามารถ ตรวจสอบการจราจรในท่าเรือ คาดการณ์การจราจรในอีก 2 ชั่วโมงข้างหน้า ติด ตามตู้ที่ต้องมารับ รวมถึงมีระบบอี-เพย์เมนต์ เพื่อลดเวลาในการทำงานเพิ่มความสะดวกสบาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน โดยคาดหวังให้เป็นแอพพลิเคชันสำหรับผู้ขนส่ง โดยหลังจากนี้จะนำข้อมูลไปพัฒนา ต่อยอด ซึ่งมองภาพในอนาคตคือความสามารถในการแจ้งเตือนการเข้ารับหรือส่งสินค้าผ่านไลน์ในแต่ละวัน

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563