ผุดแนวคิดโครงการ AI เพื่อคนไทย

20 ม.ค. 2563 | 10:23 น.

รมว.ดีอีเอส ปิ๊งไอเดียหลังบุก “ซิลิคอน วัลเล่ย์”

   หลังจากมีกำหนดการบุก”ซิลิคอน วัลเล่ย์”ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 14-22 มกราคม 2563

   ดูเหมือนว่าการไปเยือน”ซิลิคอน วัลเล่ย์” ของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมทั้งทีมคณะผู้บริหารกระทรวง และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นสัญญาณที่ดี เพราะได้เข้าเยี่ยมชม บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก อาทิ PLUGANDPLAY, Seagate Technology, Facebook, CISCO, Google, Amazon Web Service และ Microsoft เพื่อขยายเครือข่าย และสร้างความเชื่อมั่นด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ พร้อมชักชวนเข้ามาลงทุนในไทย ก่อนวางแผนร่วมมือต่อยอดด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยก่อนก้าวสู่เวทีระดับสากล

    ที่สำคัญเมื่อวานนี้ “พุทธิพงษ์” ได้เข้าพบผู้บริหารเฟสบุ๊ค เชื่อว่าน่าจะมีการคุยเรื่องเก็บภาษีเฟสบุ๊คไม่มากก็น้อย

    และล่าสุดวันนี้ (20 มกราคม 2563) นายพุทธิพงษ์ นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าพบผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ “กูเกิ้ล” ที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทยที่ได้มีการหารือกับกูเกิ้ลอย่างเป็นทางการ

     รมว.ดีอีเอส เปิดเผยถึงประเด็นการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกูเกิ้ลในครั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับจูนแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างแนวทางการทำงานร่วมกัน จึงเกิดเป็นไอเดีย AI เพื่อคนไทย อาทิ ด้านสาธารณสุข เนื่องจากการทำงานของ AI ยิ่ง AI ได้เรียนรู้มากขึ้น AI ก็จะฉลาดขึ้น ดังนั้น รมว.ดศ. ได้นำแนวคิดที่ได้หารือกับโรงพยาบาลในไทยแล้ว มาพูดคุยขยายผลกับกูเกิ้ล ซึ่งหากทำโครงการนี้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับวงการแพทย์และคนไทยเป็นอย่างมาก และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่จะทำระบบนี้ขึ้นมาได้

ผุดแนวคิดโครงการ AI เพื่อคนไทย

 

   ด้านการเกษตร ด้วยความสามารถในการประมวลผลของ AI ผนวกกับกูเกิ้ลมีภาพถ่ายการเกษตรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การคาดการณ์โรคของพืชล่วงหน้า จึงเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถป้องกันพืชพันธุ์ของตนได้ โดยการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาเป็น application ผ่านมือถือสำหรับการวิเคราะห์เป็นระบบ real time ในอนาคต

    ด้านความมั่นคง ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน แต่กระทบต่อคนไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันจะช่วยแยกแยะคลิปปลอม หรือ deep fake ได้ ซึ่งกูเกิ้ลเองได้ให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลปลอมเช่นเดียวกับรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยจึงขอให้กูเกิ้ลช่วยดูแลข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบน Google Map ด้วย

ผุดแนวคิดโครงการ AI เพื่อคนไทย

 

     นอกจากนี้ เรื่องข่าวปลอมและคลิปไม่เหมาะสมนั้น YouTube ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ ซึ่งสำหรับการลบข้อมูลดังกล่าว ตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น กระทรวงฯ ไม่สามารถบังคับให้ลบได้ ซึ่งกระทรวงฯ ได้แจ้ง YouTube มาโดยตลอดเพื่อพูดคุยและหาความร่วมมือระหว่างกันว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้จำนวนข่าว และเรื่องที่ไม่จริงใน YouTube มีจำนวนน้อยลง

   ซึ่งหลังการเจรจาในครั้งนี้คาดว่า กูเกิ้ล ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการจัดการข่าวปลอมและคลิปที่ไม่เหมาะสม รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาทักษะกำลังคนในด้านการทำ Content และพร้อมสนับสนุนในด้านดิจิทัลอื่น ๆ ด้วย

ผุดแนวคิดโครงการ AI เพื่อคนไทย

    ทั้งนี้ จากข้อมูลของ YouTube ประเทศไทยมี YouTuber ที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมากที่สุดใน Southeast Asia และคนดู YouTube ไม่ได้มีแต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดด้วย ซึ่งมีคนที่สนใจนิยมค้นหาคลิปที่ให้ความรู้เป็นจำนวนมากอีกด้วย

 

     ต้องพิสูจน์ว่าหลังจากกลับจากเยือน”ซิลิคอน วัลเล่ย์” ของ รัฐมนตรีดีอีเอส  ในครั้งนี้ ไอเดียต่าง ๆ ที่ประกาศไว้จะนำมาต่อยอดอย่างไร เพื่อไม่ให้สูญเปล่า