แคท-ทีโอที แยกกันชิงคลื่น 5G ต่อยอดธุรกิจ

20 ม.ค. 2563 | 07:33 น.

นักวิชาการแนะหลัง “ทีโอที-แคท” ควบรวมต้องวางโรดแมปต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ ส่วน 5G ต้องเข้าร่วมประมูล เหตุคลื่นเก่าหมดสัญญา ปี 2568 เผยแยกประมูลคนละย่านสร้างมูลค่าองค์กร


มติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบควบรวม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท โดยจัดตั้ง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National  Telecom: NT Co.) โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

 

มีคำถามว่าการรวมครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเอกชนชิงพื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดไปหมดแล้ว

 

ต่อเรื่องนี้นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันระดับแสนล้าน ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้มีความพยายามหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ การพยายามควบรวมนี้มีมาตั้งแต่สมัยที่ตลาดโทรคมนาคมเริ่มมีเอกชนเข้ามากินส่วนแบ่ง และสภาพของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ยุคอินเตอร์เน็ตเริ่มเข้ามาใหม่ๆ ทำให้รูปแบบบริการดั้งเดิมแบบเสียง หรือการผูกขาดตลาด และระบบสัมปทานค่อยๆ หายไป

 

ดังนั้น ความพยายามในการควบรวมยุคแรกๆ ซึ่งถ้าทำได้เร็วกว่านี้จึงมีเป้าหมายเพื่อปรับองค์กรให้แข่งขันและปรับตัวกับเอกชนได้อย่างชัดเจน แต่ด้วยความล่าช้าในการควบรวมเพื่อปรับตัวดังกล่าว จนมาถึงปัจจุบันที่กำลังจะเกิดการควบรวมอย่างจริงจัง อาจกล่าวได้ว่าสภาพตลาด ความสามารถในการแข่งขัน ทรัพยากรและขุมกำลังของ 2 รัฐวิสาหกิจมีสถานะที่แตกต่างจากอดีตไปมาก

 

 

นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณามูลค่าสินทรัพย์ที่ทั้ง แคท และ ทีโอที มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินงานในอนาคตหลังควบรวมนั้น อาจจะพิจารณาแต่ตัวเงินที่ตีค่าจากสินทรัพย์ไม่ได้ เนื่องจากหากไม่นับสินทรัพย์ด้านที่ดิน ตัวอาคารสิ่งปลูกสร้าง เสาโทรคมนาคม ท่อร้อยสายใต้ดิน แล้ว ทรัพย์สินจำนวนมากที่เป็นอุปกรณ์อาจด้อยค่าและอาจไม่ตอบสนองต่อการสร้างบริการ หรือตอบรับกับบริการในอนาคต

 

ดังนั้น หลังการรวมเป็น NT สิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจจึงอาจไม่ได้ตัวเลขของสินทรัพย์ อุปกรณ์ หรือโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ทั้ง 2 หน่วยงานมี แต่เป็นการต้องมองให้ออกว่าจะบริหารจัดการสิ่งที่มีและต่อยอดไปเป็นธุรกิจและรายได้เข้า NT ได้อย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม NT ที่ควบรวมและจัดตั้งใหม่ในวันนี้มองแง่ดีคือ ไม่ต้องนับเริ่มใหม่จากศูนย์แบบธุรกิจตั้งใหม่ แต่มีต้นทุนเดิมหลังควบรวมให้นำมาเดินหน้าพัฒนาสร้างมูลค่าได้ค่อนข้างครอบคลุมของธุรกิจโทรคมนาคม บางสิ่งอาจเป็นสิ่งที่นำหน้าเอกชน อาทิ ท่อร้อยสาย เสาโทรคมนาคม เคเบิลใต้นํ้า โครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ฐานลูกค้าเก่าที่ยังมี

 

แต่ถ้ามองในแง่การเติบโตของธุรกิจในภาวะของตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากแบบในอดีต กอปรการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อจากนี้ทั้ง คลื่นความถี่, เทคโนโลยี 5G, อินเตอร์เน็ตในยุคหน้าทั้งภาคพื้นดิน หรือดาวเทียมวงโคจรตํ่า (LEOSat) ล้วนต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุน เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในนาม NT ต่อจากนี้อาจต้องปรับตัวและหาพันธมิตร ไม่ใช่การไปแข่งขันเพื่อต่อกรกับบริษัทเอกชนด้านโทรคมนาคมอื่น ๆ ในตลาด ส่วนภารกิจในด้านการเป็นเสมือนกลไกของรัฐในการสร้างความเท่าเทียมและนำบริการโทรคมนาคมไปสู่ประชาชนก็ยังคงต้องมีอยู่

 

ขณะที่คลื่นความถี่ที่ทั้ง แคท และทีโอทีจะเข้าประมูลและนำมาใช้ถือเป็นความจำเป็น เพราะก่อนหน้านี้ต่อให้ไม่ควบรวมทั้ง 2 หน่วยงานต่างก็จะสิ้นสุดการใช้คลื่นในมือในปี 2568 ในอดีตนั้นทั้ง แคท และ ทีโอที ได้สิทธิจากการเป็นรัฐวิสาหกิจเดิมในการใช้คลื่น แต่ต่อจากนี้หากอยากจะมีคลื่นในการสร้างบริการโทรคมนาคมทั้ง 5G หรือแม้แต่ดาวเทียม แคท ทีโอที หรือแม้แต่ NTก็ต้องเข้าสู่กระบวนการประมูลเช่นเดียวกับเอกชนหากนับถึงปี 2568 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง5 ปี การวางแผนมีคลื่นไว้ในมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2563