โอเปอเรเตอร์ ปูพรมสร้างยูสเคส กระตุ้นรับรู้ 5G

15 ม.ค. 2563 | 04:15 น.

 

เทคโนโลยี 5G ของไทยที่กำลังจะเข้ามานับว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างมาก เพราะหลายภาคส่วนต่างก็ให้ความสำคัญและสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนด้วยการสร้างการรับรู้ผ่านเคสทดลอง (​Use Case) ทั้งการนำนวัตกรรมต่างๆ มาจัดแสดงให้คนไทยได้มองเห็นภาพว่าเทคโนโลยี 5G จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยในด้านใดอีกบ้าง ที่นอกไปจากเรื่องของโมบายอินเตอร์เน็ต

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เรื่องของการทำแซนด์บ็อกซ์ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ทำให้มองเห็นภาพของเทคโนโลยี 5G ได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาถือว่าไทยยังไม่มีระบบนิเวศในเรื่องของ 5G การมียูสเคส จะทำให้ได้รู้ว่า 5G สามารถไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างทำให้ผู้ใช้จับต้องได้ ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของการศึกษา เฮลธ์แคร์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายคือ สร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง 5G เป็นเรื่องของการร่วมมือกันในหลายภาคส่วนไม่สามารถทำคนเดียวได้เมื่ออีโคซิสเต็มเกิดขึ้น มีเคสทดลองคนก็ จะมองเห็นและตระหนักถึงมากขึ้น

สำหรับเคสทดลอง (Use Case) 5G ของทรูนั้นจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของเฮลธ์แคร์ หรือการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การใช้งานโดรนและหุ่นยนต์กู้ภัยในพื้นที่ประสบภัย ผ่านโครงข่าย 5G ด้วยการใช้โดรนบินสำรวจเพื่อตรวจสอบผู้บาดเจ็บในพื้นที่ร่วมกับอินฟราเรด และเอไอในการประมวลผลวิเคราะห์แยกผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต, 5G FaceRecognition การตรวจสอบใบหน้าผู้บาดเจ็บเพื่อเทียบกับฐานข้อมูลในระบบ หรือการขอรับบริจาคอวัยวะผ่านทางโซเชียลมีเดีย ที่ใช้บล็อกเชนเข้ามาช่วยคัดกรองการรับบริจาคอวัยวะโดยตรง

 

โอเปอเรเตอร์  ปูพรมสร้างยูสเคส  กระตุ้นรับรู้ 5G


 

 

 

รวมไปถึงการตรวจเช็กผลเลือด ปริมาณออกซิเจนในเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : ECG) ส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมด้วยโครงข่าย 5G เพื่อวิเคราะห์ผล พร้อมรายงานอาการของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์, รถฉุกเฉินที่มีการบันทึกภาพถ่ายทอดการปฐมพยาบาลด้วยกล้อง 4K เพื่อส่งสัญญาณ ไปที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ควบคุมพร้อม GPS ระบุตำแหน่งการเคลื่อนที่ของรถ, การใช้ AR ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นบนรถพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ด้วยเอไอเพื่อส่งไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลในการประกอบการวินิจฉัยและการรักษา (Telemedicine)

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่นๆ ที่ในอนาคตยังจำเป็นต้องพึ่งพาโครงข่าย 5G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน อาทิ CT Scan mobile เครื่อง CT สแกนเคลื่อนที่ซึ่งแพทย์สามารถตรวจเช็กผลการสแกนได้แบบเรียลไทม์ผ่านโครงข่าย 5G โดยที่แพทย์ไม่ต้องอยู่ในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยในการรักษา, เครื่อง CPR แบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้คน เพราะการทำ CPR จำเป็นต้องใช้แรงและความต่อเนื่องซึ่งในการปั๊มด้วยคนอาจจะไม่สมบูรณ์และสมํ่าเสมอ อีกทั้งเครื่องนี้ยังสามารถส่งข้อมูล ECG ของผู้ป่วยผ่านโครงข่าย 5G ไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาแบบเทเลเมดิซีน, Service Robot หรือหุ่นยนต์บริการในบ้านใช้งานผ่านคำสั่งเสียง ซึ่งมีความสามารถในการหยิบจับสิ่งของ เสิร์ฟอาหาร พูดคุยด้วยเสียง ทำความสะอาดบ้านด้วยเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง, AI Object recognition การจดจำวัตถุและสามารถจำแนกวัตถุได้ว่าเป็นของใช้หรือขยะที่ต้องเก็บกวาดและเทคโนโลยี Remote device

 

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางเอไอเอสก็ได้มีการทดสอบเทคโนโลยี 5G ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ภายใต้แนวคิดSmart City, Smart Living” โดยมี Use Case ที่เน้นไปที่เรื่องของความปลอดภัย อาทิ Mobile Surveillance: นวัตกรรมเพื่อการตรวจตราและรักษาความปลอดภัยจาก Video Analytics และ AI ได้แบบเรียลไทม์ ด้วยการนำข้อมูลวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบนยานพาหนะส่งต่อผ่านเครือข่าย 5G ที่จะสามารถวิเคราะห์ภาพจำแนกวัตถุรอบคันรถ, วิเคราะห์ความพร้อมของผู้ขับขี่ และการแจ้งเตือนความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ, Object Detection : นวัตกรรมจับวัตถุที่เคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำ ผ่าน 5G อาทิ ตรวจจับรถยนต์หรือบุคคลต้องสงสัย โดยข้อมูลจะแสดงผลเรียลไทม์ที่ War Room ของมหาวิทยาลัย, EV Autonomous : นวัตกรรมการสื่อสารระหว่างรถ EV กับรถ EV (Vehicle to Vehicle communication system) ผ่านโครงข่าย 5G ทำให้รถยนต์สามารถสื่อสารข้อมูลการขับขี่ และข้อมูลการจราจรไปมาระหว่างกันเองได้โดยไม่ต้องใช้คนขับ

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12-15 มกราคม 2563