สตาร์ตอัพอัดรัฐนโยบายย่ำกับที่

09 ม.ค. 2563 | 05:00 น.

รัฐหนุนไม่สุดทำสตาร์ต อัพไทยสะดุด ไปไม่ถึง “ยูนิคอร์น” สมาคมสตาร์ทอัพฯ อัด 6 ปีได้แค่ภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้ แต่โครงสร้างพื้นฐานสร้างเอื้อสร้างระบบนิเวศ ยํ่าอยู่กับที่ ล่าสุดจี้เก็บภาษีโซเชียลต่างชาติ สร้างความเป็นธรรมการแข่งขัน หนุนคนไทยใช้แพลตฟอร์มไทย

 

 

นายพณชิต กิตติปัญญา-งาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ ไทยเทคสตาร์ทอัพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพไทยยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเป็นการลงทุนระดับเงินทุนเริ่มต้นทำธุรกิจ (Seed Fund) โดยยังไม่มีสตาร์ตอัพไทยก้าวไปสู่สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น (1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท) ที่มีศักยภาพขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค ทั้งแกร็บ ของสิงคโปร์ หรือ โกเจ็ก ของอินโดนีเซีย

ต้องยอมรับว่านโยบายการสนับสนุนสตาร์ตอัพ (Startup) ไทย ไม่ตอบโจทย์การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี ขณะที่ข้อจำกัดด้านกฎหมายยังเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจสตาร์ตอัพ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับนานาชาติภายในประเทศของตนเองได้ โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ในไทยส่วนให้เป็นผู้ให้บริการต่างชาติทั้งหมด ส่งผลให้ข้อมูลของคนไทย รวมถึงเม็ดเงินไหลออกสู่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ไม่มีสตาร์ตอัพของไทยรายใดที่มีศักยภาพพอที่จะขยายบริการแพลตฟอร์มตัวเองออกไปสู่ต่างประเทศ

“6 ปีที่ผ่านมานโยบายการส่งเสริมของรัฐบาล ประสบความสำเร็จในแง่การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ สร้างการตื่นตัวให้ประชาชนรู้จักกับสตาร์ตอัพ แต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศในสตาร์ต อัพ ยํ่าอยู่กับที่ไม่ได้ก้าวไปไหน”

ทั้งนี้มองว่าที่ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมคือกระตุ้นการใช้บริการสตาร์ตอัพไทย (Revenue Boost) โดยแพลตฟอร์มดังระดับโลก อย่างเฟซบุ๊ก แกร็บ ก็เริ่มต้นจากการให้บริการภายในประเทศ ก่อนขยายบริการทั่วภูมิภาค หรือทั่วโลก จนประสบความสำเร็จ ซึ่งในประเทศไทยนั้นต้องยอมรับว่าค่านิยมคนไทยนิยมแบรนด์ต่างชาติ หรือแบรนด์ระดับโลกมากกว่าแบรนด์ภายในประเทศ ทำให้แพลตฟอร์มของไทยแข่งขันด้วยลำบาก ทางออกคือภาครัฐต้องเลือกแพลตฟอร์มของสตาร์ตอัพไทยที่มีศักยภาพมากลุ่มหนึ่ง และผลักดันให้เกิดการใช้งานประชาชนภายในประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเบิกเงินสดคืนได้ คล้ายกับโครงการ “ชิม ช้อป ใช้”

นอกจากนี้ต้องสนับสนุนให้ทุกกระทรวงมีนโยบายในการสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย อย่างน้อยกระทรวงละ 1 โครงการ โดยอาจมีนโยบาย “หนึ่งหน่วยงาน หนึ่งสตาร์ตอัพ” โดยทางสมาคมมีแค็ตตาล็อก แนะนำสตาร์ตอัพไทย ที่เหมาะกับหน่วยงานให้ ทั้งนี้รูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์อาจเป็นเชิงใช้บริการสตาร์ตอัพ ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการร่วมกันเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ และ Investment Deal โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเทคโนโลยี ลดความเสี่ยง และกระตุ้นรายได้ให้กับธุรกิจสตาร์ตอัพไทย ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ มาลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มเองแข่งกับเอกชน

ขณะเดียวกันภาครัฐต้องมีนโยบายปกป้องธุรกิจภายในประเทศ เช่น มาตรการเก็บภาษีบริการ หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศ และลดภาษีบริการสตาร์ตอัพในประเทศ ซึ่งกรณีที่ไม่สามารถเรียกภาษีจากแพลต ฟอร์มต่างประเทศได้ ก็ต้องงดเว้น ภาษีแพลตฟอร์มในประเทศ ที่มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม

นายพณชิต กล่าวต่อไปว่าประเด็นสำคัญวันนี้นโยบายรัฐยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลรายใหม่ หรือแรงงานดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรม ขณะนี้นอกจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังเกิดการแย่งแรงงานดิจิทัลขององค์กร หรือแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ให้ผลตอบแทนสูงจนไม่มีใครอยากเข้ามาเป็นสตาร์ตอัพ 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563