โลจิสติกส์เดือด! ทุนไทย-ข้ามชาติ แลกหมัดต่อหมัด

28 ธ.ค. 2562 | 00:12 น.

ไปรษณีย์ไทย สู้ไม่ถอยเตรียมเปิดศูนย์คัดแยกอีก 7 แห่งในปี63

    แม้โลจิสติกส์ข้ามชาติไหลบ่าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไล่เรียงตั้งแต่ เคอรี่เอ็กซ์เพรส ,เบสท์เอ๊กซ์เพรส,เจแอนด์ทีเอ๊กซ์เพรส,เอสซีจีเอ๊กซ์เพรส,แฟลชเอ๊กซ์เพรส และล่าสุด คือ ลาซาด้าเอ๊กซ์เพรส เข้ามาเปิดตลาดในไทย ท้าทาย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท แบบหายใจรดต้นคอ

    โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อ บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย ร่วมกับ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส เปิดศูนย์คัดแยกสินค้า (Lazada Express SSW Sortation Centre) ด้วยงบก้อนโต 1,000 ล้านบาท

โลจิสติกส์เดือด! ทุนไทย-ข้ามชาติ แลกหมัดต่อหมัด

 

 

    ที่สำคัญศูนย์คัดแยกแห่งนี้ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 35,000 ตร.ม. ในย่านสุขสวัสดิ์ จังหวัดสมุทรปราการ จากเดิมมีศูนย์คัดแยกในประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และ เวียดนาม

 

      การเปิดศูนย์คัดแยก”ลาซาด้า” ครั้งนี้ เท่ากับว่าท้าชนยักษ์ใหญ่ ไปรษณีย์ไทย ที่เป็นเจ้าตลาด

 

     ในเมื่อถูก”ลาซาด้า” ท้าทาย ไปรษณีย์ไทย มีหรือจะยอม เพราะล่าสุด ไปรษณีย์ไทย ออกมาเกทับว่าได้ติดตั้ง เครื่องคัดแยกพัสดุแบบกล่องที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ เป็นเครื่องที่ 2 ต่อจากศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา 

    พร้อมอวด ประสิทธิภาพในการคัดแยกสิ่งของได้กว่า 6,500,000 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งเมื่อรวมศักยภาพของทั้งสองเครื่องแล้ว จะรองรับปริมาณงานได้มากถึง 13,000,000 ชิ้นต่อเดือน 

    ไม่เพียงเท่านี้ ไปรษณีย์ไทย ยังประกาศด้วยว่าในปี 2563 จะติดตั้งเครื่องดังกล่าวที่ศูนย์ไปรษณีย์อีก 7 แห่ง รวมเป็น 9 เครื่อง ซึ่งเมื่อใช้งานอย่างเต็มระบบจะสามารถรองรับปริมาณงานได้ 60,000,000 ชิ้นต่อเดือน

 

 

    ยังๆ ไม่หยุดเท่านี้ ไปรษณีย์ไทย มีแผนติดตั้งเครื่องคัดแยกตามศูนย์ไปรษณีย์ทั่วประเทศ โดยปี 2563 ที่จะติดตั้งเครื่อง Cross Belt Sorter เพิ่มตามศูนย์ไปรษณีย์อีก 7 แห่งที่ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ศูนย์ไปรษณีย์ลำพูน ศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ศูนย์ไปรษณีย์ขอนแก่น ศูนย์ไปรษณีย์พิษณุโลก และศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่เพิ่มอีก 1 เครื่อง 

    นอกจากนี้มีแผนที่จะติดตั้งให้ครบ 18 เครื่อง ภายในปี 2566 เพื่อรองรับปริมาณงานกว่า 120 ล้านชิ้นต่อเดือน

    ถามว่า? รูปแบบการทำงานของ Cross Belt Sorter เป็นอย่างไรต้องบอกว่า เป็นเครื่องคัดแยกแบบสายพาน ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและคุณภาพในกระบวนการคัดแยก โดยใช้ระบบสแกนบาร์โค้ดด้วยเครื่องอ่านรหัสไปรษณีย์แบบ OBR (Optical Barcode Recognition) ที่สามารถอ่านรหัสไปรษณีย์ 5 มิติ และการอ่านรหัสไปรษณีย์บนจ่าหน้า รวมทั้งการลำเลียงโดยสายพานอัตโนมัติเพื่อลงสู่ช่องคัดแยกปลายทางก่อนบรรจุลงในอุปกรณ์สำหรับส่งต่อไปยังที่ทำการปลายทางต่อไปในแต่ละพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำอีกด้วย

โลจิสติกส์เดือด! ทุนไทย-ข้ามชาติ แลกหมัดต่อหมัด

 

    ส่วนทางด้าน แฟลช เอ็กซ์เพรส ออกมาประกาศขึ้นแท่นเบอร์ 3 มีตัวเลขยอดส่งพัสดุทั้งปีมากกว่า 100 ล้านชิ้น โดยรายได้รวมของปี 2562 มีตัวเลขมากกว่า 5,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 10 เท่า  

     มีศูนย์ให้บริการและจุดรับ-ส่งพัสดุทั่วประเทศ รวมกว่า 3,500 แห่ง มีรถขนส่งทุกประเภทกว่า 10,000 คัน ให้บริการครบ 77 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ

     เพราะมูลค่ารวมตลาดขนส่งอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาทในปี2562 แล้วในปี 2563 ยิ่งหนักขึ้นทวีคูณแน่นอน!  

 

คอลัมน์ Move On

โดย คนท้ายซอย