วิศวะฯธรรมศาสตร์ ชู”เอไอ”คัดกรอง 3 โรค

12 ธ.ค. 2562 | 07:28 น.

คัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอกภายใน 1 นาที

   รองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ผู้เชี่ยวชาญและทีมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เปิดเผยว่าคณะวิศวะฯ ธรรมศาสตร์  ได้ร่วมกับทีมพัฒนาพร้อมด้วยทีมแพทย์ นำโดย แพทย์หญิงน้ำทิพย์ หมั่นพลศรี ,แพทย์หญิงสุฑารัตน์ ตั้งสกุลวัฒนา ,นายแพทย์อิสระ เจียวิริยบุญญา และนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนา “เอไอคัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก” หรือ “AIChest4All” (DMS TU) ซอฟต์แวร์ที่ช่วยแพทย์สามารถคัดกรองผู้ป่วย โรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก และความผิดปกติอื่น ๆ โดยคัดกรองโรคทรวงอกภายใน 1 นาที 

วิศวะฯธรรมศาสตร์ ชู”เอไอ”คัดกรอง 3 โรค

  เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากวัณโรค มะเร็งปอด และหัวใจผิดปกติเป็นจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยวัณโรคมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิต 1.6 ล้านคน สำหรับมะเร็งปอด มีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 2.1 ล้านคนทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิต 1.8 ล้านคน สำหรับหัวใจผิดปกติ มีผู้ป่วยมากว่า 26 ล้านคนทั่วโลก เอกซเรย์ทรวงอก จึงถูกนำมาใช้เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ ร่วมกับอาการและการตรวจเพิ่มเติม 

  

 

       ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว สามารถจำแนกประเภทภาพเอกซเรย์ได้ถึง 6 ประเภท คือ 1. ภาพถ่ายเอกซเรย์ปกติ 2. วัณโรค 3. หัวใจผิดปกติ 4. มะเร็งปอด 5. ความผิดปกติอื่น ๆ ภายในทรวงอก และ 6. ความผิดปกติอื่น ๆ ภายนอกทรวงอก โดยอาศัยการเรียนรู้รูปแบบของโรคต่าง ๆ จากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกของคนไทยและต่างประเทศ ในสัดส่วน 50:50 รวมมากกว่า 2 แสนภาพ ซึ่งพบว่ามีความแม่นยำสูงถึง 94% เมื่อทำการทดสอบกับภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกกว่า 10,000 ภาพ ใน 1 นาที

   นอกจากนี้ ยังสามารถระบุบริเวณในภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงออกเป็นเฉดสี (Heat Map) ต่าง ๆ โดยแบ่งระดับตามความเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่กำลังพิจารณา นับตั้งแต่ 0-100% กล่าวคือ ไล่เฉดสี จากสีเขียวเข้ม เขียวอ่อน เหลือง ส้ม และแดง ตามลำดับ

 

วิศวะฯธรรมศาสตร์ ชู”เอไอ”คัดกรอง 3 โรค

    อย่างไรก็ดี ทางคณะผู้วิจัย มีความยินดียิ่งในการมอบ “เอไอคัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก” หรือ “AIChest4All” (DMS TU) แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐทั่วประเทศที่มีความสนใจ ให้สามารถใช้งานได้ฟรีโดยไม่คิดมูลค่า ภายใต้แนวคิดหลัก “พัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย ใช้ได้ฟรี” เพื่อเป็นการยกระดับสุขภาพที่ดีของคนไทย ด้วยนวัตกรรมที่สามารถคัดกรองและรู้ระดับการรักษาที่รวดเร็วทันใจ ทั้งนี้ สำหรับโรงพยาบาลของรัฐที่สนใจนวัตกรรมดังกล่าว จะต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อและใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ