ถอดบทเรียน‘ไทยพาณิชย์’ฝ่าพายุดิจิทัล

09 ธ.ค. 2562 | 23:50 น.

การก้าวสู่ยุค Digital Transformation โดยเฉพาะดิจิทัลเทคโนโลยีสุดลํ้าท่ามกลาง Tech Company ที่คนรุ่นใหม่เรียงหน้าเข้ามา Disrupt ทุกอณูของการดำเนินชีวิตและธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ที่ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ที่สำคัญคือ ต้นทุนในการใช้บริการตํ่า จึงเห็นทุกภาคส่วน ทั้งต่างประเทศและในประเทศตื่นรับการปรับตัว เพื่อไม่ให้ถูกกลืนหรือถูกทิ้งไว้ระหว่างทาง “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หนึ่งในซีอีโอของแวดวงการเงินที่เวิร์กกับเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวบนเวทีหลักสูตร Digital Transformation For CEO#1 สำหรับผู้บริหาร ผู้นำองค์กรและเจ้าของธุรกิจ ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 

“ผมโชคดีที่ เมื่อปี 2559 ได้รับอนุมัติเงิน 4 หมื่นล้านบาท จากบอร์ดธนาคาร เพื่อใช้ในการ Transformers Bank หลังจากบอร์ดเห็นว่า เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เราลงทุนน้อยกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมแบงก์ปีละประมาณ 5-6 พันล้านบาท จึงมีโอกาสได้ใช้เงินทดลองในหลายเรื่องช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้ ซึ่งมีไม่ถูกก็เยอะ”

อาทิตย์ขยายความถึงจุดตั้งต้นของการทรานส์ฟอร์มในช่วงที่ผ่านมาว่า ตอนที่ดู Mega  Trend สิ่งที่พบคือ เทคโนโลยีทำให้ธุรกิจตัวกลางถูก Disrupt แน่ๆ ซึ่งธุรกิจแบงก์ เมื่อปี 2553-2557 เคย Enjoy กับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 18-20% แต่นับจากปี 2558 ซึ่งตนเข้ามานั่งซีอีโอ ROE เริ่มถดถอยอยู่ที่ 16% จากนั้นดิ่งลงต่อเนื่องตํ่ากว่า 2 หลัก สิ่งที่ตามมา มูลค่าต่อหุ้น (P/B) ของธนาคารรูดลงทั่วโลก ไม่เว้นสหรัฐฯ ยุโรปที่ P/B ไม่ถึง 0.5% 

กลับมาดูธุรกิจของไทยพาณิชย์ พฤติกรรมของลูกค้าทำธุรกรรมที่สาขาปรับลดเหลือ 4% ในปีนี้จาก 15% เมื่อปี 2560 โดยหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลสูงขึ้นจากเดิม 23% เป็น 60% และช่องทางเอทีเอ็มลด 62% เหลือ 36%  สะท้อนโอกาสช่องทางทำรายได้ของธนาคารที่ต้องขยายตามเทคโนโลยีและคนรุ่นใหม่ 

“อาทิตย์” ยํ้าถึงการลงทุนในเทคโนโลยีว่า “ผมอยากให้พนักงานของไทยพาณิชย์มี OFFICE365 Power BI ซึ่ง Power BI เป็นรากฐานหนึ่งในการที่จะ DRIVE เรื่องข้อมูล (Data) พร้อมลงทุนในระดับ Enterprise นับหมื่นบัญชี แต่ผ่านมา 3 ปี พบว่า แม้ลงทุนเทคโนโลยีดีมากๆ เหมือนมีรถ Ferrari แต่ขับไม่เป็น เพราะความไม่พร้อมของคนคือ สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญก่อนที่จะตัดสินใจใช้เงิน เช่น เทคโนโลยีเรื่อง Data ผมลงทุนเทคโนโลยี CEO ของ Microsoft มาเป็นสปอนเซอร์ให้ไทยพาณิชย์”

 

สิ่งที่อยากยํ้าเตือนสำหรับซีอีโอที่คิดหรือเริ่มจะทรานส์ฟอร์มองค์กร จำเป็นต้องดูความพร้อมขององค์กรใน 3 เรื่องคือ “Revenue, COST และ Customer Centric” ทั้ง 3 ปัจจัยเรียกว่าเป็น Sandbox ซึ่งต้องทำพร้อมกันเพื่อสร้าง Business Model ใหม่ 

“ยุทธศาสตร์ตีลังกานั้น ต้องทำจาก 3 ส่วนนี้และจะคลอด Strategy ออกมาใหม่ แต่เป็นการย้อนอดีตว่าควรจะทำแบบนี้ แต่ผมไม่ได้ทำจนถึงวันนี้จึงยังไม่มีคำตอบ”

“อาทิตย์” ยํ้าว่า หลังพบข้อจำกัดและล้มเหลวนับไม่ถ้วนจากเดิมที่เคยคิดว่า จะเปลี่ยนองค์กรแห่งนี้ให้เป็นองค์กรที่ทรานส์ฟอร์ม แต่ตอนนี้กำลังปล่อยให้เรือลำนี้ทำเท่าที่ทำได้ กำลังจะเอาเรือเล็กไป Experiment จากเรือใหญ่ เพราะหลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาใช้เงินไปจำนวนมาก แต่เรือลำนี้ไม่ค่อยสปีด ซึ่งในอีกไม่นาน เราจะประกาศยุทธศาสตร์อะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ พยายามทดลองและรู้ว่า ทำอย่างไรจะควบคุมแซนด์บ็อกซ์ให้มองต่างออกไปมีประสิทธิ ภาพและใช้เงินน้อยลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พยายามทำคือ ให้ลูกค้าอยู่บน Digital Platform ของไทยพาณิชย์ เพื่อสานต่อเรื่อง Data และการสร้าง Vision หรือ Strategy ที่ตั้งไว้ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้สามารถจับต้องได้ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรไม่ยืนตรงข้ามกับซีอีโอ แต่เพื่อให้มั่นใจ สื่อสาร และสร้างกระบวนการจัดสรรทรัพยากร โดยมีซีอีโอเป็นคนคุม ให้สามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรให้องค์กรก้าวไปในอนาคตจริงๆ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ได้รับการฉายภาพจาก “อาทิตย์” โดยยํ้าว่าธนาคารตั้งเป้า ที่จะลดต้นทุนให้ได้ 30% ภายใน 3 ปี เพราะรายได้มีโอกาสลดลงอีก 30% ดังนั้นเมื่อรู้แน่ว่ารายได้จะหายไป จึงต้องลดต้นทุนให้เท่ าทัน ถ้าไม่ทำตรงนี้ DEAD! 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562