เชนสโตร์ไอทีหนีตาย ควบธุรกิจ-ลุยออนไลน์

06 ธ.ค. 2562 | 04:00 น.

เทคโนโลยี-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว กดดันธุรกิจค้าปลีกไอทีปรับตัวรับมือ “ไอทีซิตี้” ผนึกรวม “ซีเอสซี”ซินเนอร์ยีจุดแข็งเสริมแกร่งธุรกิจ คอมเซเว่น-เจ.ไอ.บี. มุ่งดันยอดขายออนไลน์


ผลจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป คู่แข่งออนไลน์ทำให้เชนสโตร์ค้าปลีกสินค้าไอทีช่วงปลายปีนี้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ และตลาดที่ชะลอตัวลงไป

โดยนายพิชัย นีรนาทโกมล รองประธานคณะบริหาร บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมพิวเตอร์ ซีสเท็ม คอนเน็คชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด หรือ ซีเอสซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที และสมาร์ทโฟน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค ล่าสุดซีเอสซี ได้ผนึกรวมธุรกิจกับบริษัทไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) โดยตนได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ไอทีซิตี้ ในนามบุคคล 21.83% ส่วนไอทีซิตี้จะเข้ามาถือหุ้นใน ซีเอสซี 100%

การผนึกรวมธุรกิจครั้งนี้จะผสานจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัท เพื่อขยายธุรกิจออกไปท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยซีเอสซี จะมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น และสามารถใช้ช่องทางไอทีซิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขยายสาขา โดยวางเป้าหมายไว้ 210 สาขาในช่วงต้นปีหน้า จากสิ้นปีนี้ 202 สาขา และจะเปลี่ยนจากตัวแทนให้บริการเอไอเอส ช็อป เป็นดีแทคช้อป โดย เบื้องต้นวางเป้าหมายขยาย 15 แห่ง ส่วนไอทีซิตี้นั้น จะขยายการขายสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนมากขึ้น และจะมีการรีแบรนดิ้ง ตกแต่งหน้าร้านใหม่ ให้ทันสมัย เพราะเจาะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น

“ตอนนี้แม้ว่าซีเอสซีจะเชนสโตร์ ไอที ที่มียอดขาย วีโว่ และออปโป้ เป็นอันดับ 2 แต่ยังมียอดขายห่างจากอันดับ 1 เกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้เชื่อว่าภายหลังรวมกิจการกัน และมีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น จะทำให้ยอดขายขยับขึ้นไปใกล้เคียงอันดับ 1 โดยหลังจากเปิด 10-15 แห่งในต้นปีหน้า ก็จะเริ่มขายไอโฟนได้

นายพิชัย กล่าวต่อไปว่าบริษัทยังเชื่อมั่นในช่องทางหน้าร้าน หรือ ออฟไลน์ เนื่องจากลูกค้ายังต้องจับต้องสินค้า หรือ ลองเล่นสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ โดยหลังจากรวมกิจการจะทำให้ทั้งกลุ่มมีหน้าร้าน 331 แห่ง เป็นซีเอสซี 202 แห่ง และ ไอทีซิตี้ 129 สาขา ส่วนช่องทางออนไลน์นั้นยังไม่เน้นมาก เพราะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการสร้างฐานลูกค้าขึ้นมา โดยจะเน้นการสร้างหน้าร้านออนไลน์ไว้ในอี-มาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ๆ ทั้งลาซาด้า และช้อปปี้

เชนสโตร์ไอทีหนีตาย  ควบธุรกิจ-ลุยออนไลน์

ด้านนายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 กล่าวว่าแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอ แต่เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนเครื่องใหม่ ทำให้ยอดขายเติบโตได้อยู่ ส่วนกรณีที่มีการควบรวมกิจการของเชนสโตร์ค้าปลีกไอทีนั้น มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ผู้เล่นในตลาดลดลงไปอีก ธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรง ถึงจุดหนึ่งที่ตลาดไม่เติบโตขึ้นมาท้ายสุดก็รวมตัว หรือเป็นพันธมิตรกันเพื่อความอยู่รอด

สำหรับกรณีที่เข้าไปถือหุ้นใน บมจ. เอ็ม วิชั่น (MVP) ผู้จัดงาน “ไทยแลนด์โมบายเอ็กซ์โป” กว่า 12% หรือจำนวน 24 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.5 บาท มูลค่ารวมทั้งหมด 36 ล้านบาท จนทำให้ขณะนี้ถือหุ้นในบมจ. เอ็ม วิชั่น ทั้งหมด 19.1% หรือมีจำนวน 38.28 ล้านหุ้น นั้นไม่มีนัยสำคัญกับธุรกิจคอมเซเว่น โดยเป็นการถือหุ้นส่วนตัว ที่ชื่นชอบแผนธุรกิจเอ็ม วิชั่น ที่มุ่งไปทำด้านกีฬามากขึ้น

นายสุระ กล่าวต่อไปว่าปีนี้รายได้ของบริษัทน่าจะปิดที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ปี 2563 ตัวเลขน่าจะใกล้เคียง ส่วนตลาดจะเติบโตขึ้น เหลือขึ้นอยู่กับการเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ โดยหากเปิดบริการเร็วก็จะช่วยกระตุ้นตลาดดีไวซ์ ทั้งโมบาย ไอโอที และคอมพิวเตอร์ให้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทิศทางกลุ่มคอมเซเว่นนั้นมุ่งเน้นการปรับตัวตลอดเวลา ซึ่งปีหน้าคาดว่าการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างคลังสินค้าออนไลน์ขึ้นมา พร้อมกับพัฒนาเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการต้นปีหน้า

ส่วนนายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่าปีนี้ตลาดไอทีชะลอตัว ทำให้เชนสโตร์ค้าปลีกมีการปรับตัว เพื่อความอยู่รอด โดย เจ.ไอ.บี. ยังเชื่อมั่นในช่องทางขายผ่านออนไลน์ ที่มองว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนยอดขายออนไลน์เพียง 12% ของรายได้รวม 8,500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตามหลักเกณฑ์ยอดขายออนไลน์ควรอยู่ที่ 30% ของยอดขาย ขณะที่มูลค่าธุรกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน เจ.ไอ.บี. ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ประมาณ 9,000 บาท ต่อรายการ ส่วนธุรกรรมซื้อขายหน้าร้านอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อรายการ

ส่วนช่องทางหน้าร้านนั้นจะมีการปรับปรุงตลอดเวลาให้ทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเปิดสาขานั้นมีต้นทุนสูง สาขาที่ไม่ทำกำไร หรือ มีสาขาอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่เดียวกันก็จะทยอยปิด

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2562