3 ค่ายมือถือชิงคลื่น 2600MHz

03 ธ.ค. 2562 | 12:39 น.

“3 ค่ายมือถือ” เตรียมโดดชิงคลื่น 2600 MHz ส่วนคลื่น 3500 MHz ชี้ต้องใช้เวลา 300 วันในการเรียกคืน ด้าน “ฐากร”  ย้ำไม่เลื่อนประมูล

 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็น(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์  (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 24.25-27 กิกะเฮิรตซ์ และ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์  และ 26 กิกะเฮิรตซ์  ว่า ภายหลังจากประชาพิจารณ์แล้วเสร็จจะรวบรวมความคิดเห็นให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 27 ธันวาคม เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยวันที่ 3-4 มกราคม 2563 หลังจากนั้นประกาศเชิญชวนเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาแสดงความจำนง เพราะวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันประมูลคลื่นความถี่

ส่วนกรณีที่ ดีแทค ให้นำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลพร้อมกันไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่เรียกคืนคลื่นความถี่เพราะ บริษัท ไทยคม จำกัด(มหาชน) ยังอยู่ในสัญญาสัมปทานไปถึงกันยายน 2564  การเรียกคืนคลื่นยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 300 วัน หรืออาจถึง 500 วัน

 

อย่างไรก็ตาม เอไอเอส ทรู และ ดีแทค  มีความสนใจคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz  มากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 2600 MHz 

ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการทุกรายให้  กสทช. พิจารณาคือ 1.ลดจำนวนคลื่นความถี่ลง 2.เพิ่มข้อกำหนดการค้ำประกันของสถาบันการเงิน  ในขณะที่ดีแทค มองว่า กสทช.ควรให้ความชัดเจนเกี่ยวกับคลื่น 3500 MHz 

ขณะที่นายกิตตินันท์ พจน์ประสาท  หัวหน้าส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของทางเอไอเอส คือ เรื่องของราคาตั้งต้นที่ค่อนข้างสูงมาก สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 2600 MHz ซึ่งย่านความถี่ที่ดีที่สุดในขณะนี้ไม่ใช่ย่าน 2600 MHz  ในหลายประเทศก็ยังมีการใช้คลื่นความถี่ 2600 MHz ควบคู่กับคลื่นอื่นอย่างเช่นย่าน 3500 MHz 
     
ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า  ทางทรูได้เสนอให้มีการประมูล คลื่นความถี่ย่าน  2600 MHz เพียงย่านเดียวเพื่อที่ผู้ให้บริการจะได้นำเงินจากการลงทุนไปใช้ในการพัฒนาหรือลงทุนในส่วนอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ

ขณะที่นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  DTAC กล่าวว่า   ข้อเสนอของทางดีแทคคือ ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ซึ่งมีแบนด์วิดธ์เพียง 190 MHz โอกาสที่จะมีผู้ชนะการประมูลหลายรายเป็นไปได้ การประมูลควรจะปรับเพดานการถือครองคลื่น (Spectrum Cap) ตามจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล หากมา 2 รายก็กำหนดที่ 100 MHz ถ้ามา 3 รายก็ลดเหลือรายละ 70-80 MHz เพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกรายทุกค่ายมีสิทธิได้ใช้บริการ 5G