คาดปี 68 ผู้ใช้ 5G โลกแตะ 2.6 พันล้านคน

03 ธ.ค. 2562 | 10:17 น.

อีริคสัน คาดว่าจำนวนผู้ใช้ระบบเครือข่าย 5G ทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 2.6 พันล้านคนภายในอีก 6 ปีข้างหน้า โดยเป็นผลมาจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและระบบนิเวศ 5G ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลคาดการณ์ดังกล่าวได้ระบุไว้ในรายงาน Ericsson Mobility Report ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 รวมไปถึงข้อมูลการคาดการณ์อื่น ๆ จนถึงช่วงปลายปี 2568 และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม

ปริมาณการใช้ดาต้าอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยต่อเดือนของสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 7.2 GB ในปัจจุบันเป็น 24 GB ภายในสิ้นปี 2568 โดยเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตแบบใหม่ของผู้บริโภค เช่น การสตรีมมิ่งแบบ Virtual Reality (VR)  ทั้งนี้ การใช้งานดาต้าอินเตอร์เน็ต 7.2 GB ต่อเดือน จะสามารถสตรีมวิดีโอ ความละเอียดระดับ HD (1280 x 720) ได้ที่ความยาว 21 นาทีในแต่ละวัน แต่หากใช้เพิ่มเป็น  24 GB จะรองรับการสตรีมวิดีโอ ความละเอียดระดับ HD ได้ที่ความยาว 30 นาที และ VR เพิ่มเติมได้อีก 6 นาทีในแต่ละวัน

 

นอกจากนั้น รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2568 เครือข่าย 5G จะครอบคลุมสัดส่วนราว 65 %ของประชากรทั่วโลก และคิดเป็น 45 %ของจำนวนการใช้ดาต้าอินเตอร์เน็ตบนมือถือทั่วโลก

 

ปี 2562 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารชั้นนำในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือได้ดำเนินการเปลี่ยนย้ายไปสู่เครือข่าย 5G  ส่วนเกาหลีใต้มีการใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนเมษายน 2562 โดยผู้ให้บริการในเกาหลีใต้รายงานว่ามีจำนวนผู้ใช้งาน 5G กว่า 3 ล้านคนแล้ว ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562   นอกจากนี้ การเปิดตัวระบบ 5G ในจีนเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการอัพเดตตัวเลขประมาณการผู้ใช้ 5G สำหรับสิ้นปี 2562 ใหม่ เพิ่มจาก 10 ล้านคนเป็น 13 ล้านคน

 

เฟรดริก เจดลิงก์ รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่ายเครือข่ายของอีริคสัน กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีที่ระบบเครือข่าย 5G ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากผู้ผลิตอุปกรณ์เกือบทุกรายในปัจจุบัน และในปี 2563 อุปกรณ์ที่รองรับ 5G จะได้รับการวางจำหน่ายในตลาดอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะช่วยผลักดันการใช้งาน 5G เพิ่มมากขึ้น คำถามสำคัญก็คือเราจะสามารถกระตุ้นการประยุกต์ใช้งานเครือข่าย 5G ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคและองค์กรได้รวดเร็วแค่ไหน  แม้ว่าระบบ 4G จะยังรองรับการเชื่อมต่ออย่างแข็งแกร่งในหลาย ๆ ประเทศ แต่การปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัยก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เราจะต้องดำเนินการ”

 

แม้ว่าวันนี้ WCDMA / HSPA จะยังเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียอยู่ แต่คาดว่าภายในปี 2568 ระบบ 4G (LTE) จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักโดยมีจำนวนผู้ใช้งานถึง 63% ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด ในขณะที่สัดส่วนผู้ใช้งาน 5G คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 21% ภายในปี 2568

 

ผู้ให้บริการและผู้ประกอบการ ICT จะมีบทบาทมากขึ้นในการใช้งานระบบและแอปพลิเคชันในเครือข่าย 5G  ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้งาน 5G ที่เพิ่มขึ้น จากการศึกษาล่าสุดของอีริคสัน ในหัวข้อ '5G สำหรับธุรกิจ: เข็มทิศการตลาดปี 2030' ระบุว่า รายงานมูลค่าธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ที่เปิดใช้งาน 5G จะมีมูลค่าสูงถึง 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการณ์จากผู้ประกอบการ ICT ถึงยอดผู้ใช้งานในตลาดที่รองรับ 5G ที่จะเพิ่มขึ้นถึง 47%

 

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมปัจจุบัน คาดว่าความนิยมของการใช้งาน 5G จะเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเครือข่าย LTE โดยภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดได้แก่ อเมริกาเหนือ คาดว่า 5G จะครองสัดส่วน 74 %ของจำนวนผู้ใช้งานมือถือในภูมิภาคดังกล่าวภายในสิ้นปี 2568  ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือคาดว่าจะอยู่ที่ 56 % และยุโรปอยู่ที่ 55 %

 

ข้อมูลคาดการณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้: จำนวนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT บนเครือข่ายเซลลูลาร์ทั้งหมดจะแตะระดับ 5 พันล้านชิ้น ภายในสิ้นปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 1.3 พันล้านชิ้น ในช่วงสิ้นปี 2562 คิดเป็นอัตราการเติบโต 25 %ต่อปี  ทั้งนี้คาดว่าเทคโนโลยี NB-IoT และ Cat-M จะครองสัดส่วน 52 %ของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT บนเครือข่ายเซลลูลาร์ภายในปี 2568

 

 

การเติบโตของปริมาณการใช้งานดาต้าอินเตอร์เน็ตสำหรับไตรมาสที่สามของปี 2562 สูงถึง 68 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในอินเดียที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้งานดาต้าอินเตอร์เน็ตในแต่ละเดือนบนสมาร์ทโฟนในจีน ความสามารถที่ดีขึ้นของอุปกรณ์ การเพิ่มขึ้นของคอนเทนต์ที่ใช้ปริมาณดาต้าเน็ตจำนวนมาก และค่าบริการที่ถูกลง

 

บทความที่เขียนขึ้นร่วมกับ SK Telecom ภายในรายงานดังกล่าวให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการของ SK Telecom ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในเกาหลีใต้ สำหรับการปรับใช้กลยุทธ์การติดตั้งคลัสเตอร์ 5G เพื่อนำเสนอประสบการณ์เครือข่าย 5G ระดับพรีเมียม รวมถึงบริการที่แปลกใหม่ให้แก่ลูกค้าในบางพื้นที่

 

และอีกบทความหนึ่งที่เขียนขึ้นร่วมกับ MTN Group ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือจากแอฟริกาใต้ กล่าวถึงประสบการณ์ของผู้ใช้และความภักดีของลูกค้า ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรมและประโยชน์ทางธุรกิจที่ได้รับในประเทศรวันดาและกานา

 

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเจาะลึกเกี่ยวกับแผนบริการของผู้ให้บริการรายต่าง ๆ ซึ่งเผยให้เห็นว่าผู้ให้บริการส่วนใหญ่ที่เปิดตัว 5G ตั้งราคาแพ็คเกจ 5G สูงกว่าบริการ 4G ที่ใกล้เคียงที่สุดราว 20 %  และสุดท้าย มีบทความที่กล่าวถึง IoT ในธุรกิจยานยนต์ซึ่งตอบสนองความต้องการด้านการใช้งานที่แตกต่างหลากหลายในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์และระบบขนส่ง