‘5จี’ สร้างโอกาสธุรกิจ ค่ายมือถือรวยพุ่ง 3.4หมื่นล้าน

06 ธ.ค. 2562 | 02:37 น.

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุค 5G แต่จะเห็นเป็นรูปธรรม ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ซิสโก้ชี้สร้างรายได้3.4หมื่นล.

ทั้งนี้ผลการศึกษาล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลก บริษัท เอ.ที. เคียร์เน่ ภายใต้การมอบหมายจากซิสโก้ ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ชี้ว่าการเปิดตัวบริการ 5จี ช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยได้มากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 34,000 ล้านบาท) ภายในปี 2568

โดยเน้นยํ้าว่า 5 จี จะรองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า พร้อมความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากขึ้น 10 เท่า และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ 4 จี  เพราะมีลักษณะเด่น 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาตํ่า และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานตํ่า

คาด “ไทยสัดส่วนใช้5จี 33%

รายงานผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า 5จี ในอาเซียน : จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค ระบุว่า ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะเปิดตัวบริการ 5จีในปี 2564 สัดส่วนการใช้งาน 5จี จะอยู่ที่ประมาณ 25 ถึง 40% ในประเทศหลักๆ ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 ประเทศไทย สัดส่วนการใช้งาน 5จี จะมีถึง 33% และคาดว่าจำนวนลูกค้า 5จี ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนจะเกิน 200 ล้านรายในปี 2568

นายนาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า 5จี เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (4IR - Fourth Industrial Revolution) ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ, ไอโอที, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจแบบยั่งยืนในระยะยาว


 

5จี ผลักดันภาคการผลิต

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า การเปิดให้บริการ 5จี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้ให้บริการโทรคมนาคมกำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5จี โดยมีแนวโน้มจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (300,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568

‘5จี’ สร้างโอกาสธุรกิจ  ค่ายมือถือรวยพุ่ง 3.4หมื่นล้าน

ขณะที่นายดาร์เมชมัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน, กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของซิสโก้ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดให้บริการ 5จี จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย และผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4จี  และสร้างขีดความสามารถด้าน 5จี อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ระบบ 4จี และ 5จี ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น

"คลื่น” ความท้าทาย

ปัญหาที่ท้าทายสำคัญที่สุด คือ ย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานช้าเกินไปอาจส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ ระบบ 5จี ที่ใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ตํ่า(700 เมกะเฮิรตช์), ย่านความถี่กลาง (3.5 ถึง 4.2 กิกะเฮิรตช์) และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24 ถึง 28 กิกะเฮิรตช์) ในภูมิภาคอาเซียน

ย่านความถี่เหล่านี้กำลังถูกใช้งานสำหรับบริการอื่นๆ เช่น ย่านความถี่ตํ่าใช้สำหรับฟรีทีวี และย่านความถี่กลางสำหรับบริการดาวเทียม

แม้ว่าสเปกตรัม mmWave จะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบ จำเป็นต้องรวมย่านความถี่ตํ่าเข้าไว้ด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายการขยายพื้นที่บริการให้ครอบ คลุมเขตชานเมือง และชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร

นายนิโคไล ดอบเบอร์สไตน์ พาร์ทเนอร์ของบริษัท เอ.ที. เคียร์เน่ และหัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าว กล่าวว่า  เนื่องจากความท้าทายด้านอีโคซิสเต็มส์และมูลค่าที่สูงมากเป็นเดิมพัน หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเข้ามามีบทบาทหลัก และต้องเป็นผู้นำแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น จัดสรรคลื่นความถี่ระยะสั้น สนับสนุนใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และการส่งเสริมการพัฒนาระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับประเทศ โดยครอบคลุมทั่วภูมิภาค

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2562

‘5จี’ สร้างโอกาสธุรกิจ  ค่ายมือถือรวยพุ่ง 3.4หมื่นล้าน