ปั้น“ชูใจ”โรบอตต้นแบบรับสังคมสูงวัย

02 ธ.ค. 2562 | 10:40 น.

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เผยว่าในปี 2560 ไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2564 สัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มสูงถึง 20% และประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งในปี 2574 จำนวนประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นถึง 28% รัฐบาลจึงมีแนวทางที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) แต่ยังประสบปัญหาในการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. จึงได้มอบทุนในการจัดทำโครงการพัฒนา “ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี หัวหน้าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ฯ และอาจารย์ประจำภาควิชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ชูใจ เป็นการร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน คือ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสาขาวิชาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 - พฤษภาคม 2563 โครงการดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Inteligence : AI) มาช่วยในการวิเคราะห์ประเมินสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าด้วยเอไอแชตบอต

 

“หลังจากที่ได้พูดคุยกับทีมงานทำให้พบ Pain Point ต่างๆ มากมาย เราจึงได้นำมาพัฒนาต่อยอด ผนวกกับปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีฐานะจะอยู่ตามศูนย์ดูแล และผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต โรคซึมเศร้าหรือสมองเสื่อม จากการไม่ได้อยู่กับญาติพี่น้องและครอบครัว”

ปั้น“ชูใจ”โรบอตต้นแบบรับสังคมสูงวัย

 

ทั้งนี้โครงการหุ่นยนต์ “ชูใจ” จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพจิต ฟื้นฟูความจำและภาวะสมองเสื่อม ด้วยหุ่นยนต์ที่สามารถพูดคุยกับผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่มีคนดูแลไม่เพียงพอ เพราะหุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นการผสมผสาน 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน คือ เอไอและจิตวิทยา ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการแรกที่อยู่ในช่วงของการพัฒนาตัวต้นแบบ (Prototype) หลังจากนี้ต้องมีการทดสอบใช้งานจริงและพัฒนาต่อไป

 

“เราได้มีการทดสอบตั้งแต่การออกแบบหุ่นยนต์ การทำแอพพลิเคชัน มีเรื่องของจริยธรรมในการวิจัย, จิตวิทยาคลินิก ที่สามารถช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตเขาได้ ด้วยการประเมินและรักษาอารมณ์ของผู้สูงอายุ ที่ออกแบบโดยนักจิตวิทยา ด้านจิตวิทยาคลินิกและดนตรีบำบัด (Music Therapy) ผนวกกับการใช้เอไอในการตรวจจับเสียงและแปลงเสียงเป็นข้อความเพื่อประมวลผลและโต้ตอบกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของความจำผ่านแอพพลิเคชันและเกมต่างๆ บนหุ่นยนต์”

 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้สูงอายุที่ค่อนข้างยากและไม่สะดวกซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงและออกแบบใหม่โดยที่สามารถพูดคุยด้วยเสียงได้ ขณะที่ในเฟสต่อไปคือการนำแอพพลิเคชันที่ใช้กับหุ่นยนต์ไปพัฒนาเป็นแอพพลิเคชันบนมือถือ ที่คนทั่วไปหรือผู้สูงอายุที่อยู่ในที่อื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังมีแพลนที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์สุขภาพทางไกล (Tele Medical Health) ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถติดต่อพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือญาติผ่านหุ่นยนต์ด้วยการวิดีโอคอลล์ได้ หลังจากสิ้นสุดโครงการนี้จะได้เห็นหุ่นยนต์ที่นำไปทดสอบใช้งานได้จริง แต่อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีในการปรับปรุงพัฒนาหรือแก้ไขให้เหมาะกับผู้สูงอายุ

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3526 ระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2562