ยูโอบี-เดอะฟินแล็บ ลุยสมาร์ทบิสิเนส ดัน SMEsโตไกลอาเซียน

25 พ.ย. 2562 | 09:00 น.

ยูโอบี-เดอะ ฟินแล็บ ผนึกรัฐปั้น สมาร์ท บิสิเนส ทรานส์ฟอร์เมชัน จับคู่ธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้ให้บริการโซลูชัน ตั้งเป้ายกระดับเอสเอ็มอีไทยโตไกลถึงอาเซียน

    ดิจิทัล ดิสรัปชัน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้การทำธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคมีความต้องการในสิ่งที่ธุรกิจแบบดั้งเดิมทำไม่ได้ ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ จึงต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีอยู่เพื่อรองรับเทรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาธนาคารยูโอบี (ไทย) และเดอะ ฟินแล็บ จึงได้มีการจัดโครงการ Smart Business Transformation เพื่อผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีกว่า 3 ล้านราย ให้สามารถยกระดับธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

     นายเฟลิกซ์ ตัน หัวหน้ากลุ่มงานร่วม เดอะ ฟินแล็บ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ฟินแล็บได้ทำการสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยพบว่า ผู้ประกอบการไทยต้องการเข้าถึงการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกว่า 51% และต้องการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาด รวมถึงต้องการที่จะรุกตลาดใหม่ถึง 54% ดังนั้นโซลูชันที่ออกมา จะโฟกัสไปที่การทำ Front and Facing หรือการพัฒนาระบบหน้าบ้านให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด

     “ฟินแล็บ ได้ร่วมกับธนาคารยูโอบี จัดทำโครงการ Smart Business Transformation เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงผู้ให้บริการเทคโซลูชันที่จะมาช่วยพัฒนา บริหารจัดการธุรกิจให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้เปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการให้ความสนใจกว่า 200 รายในการเข้าร่วม Business Model Workshop โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ผ่านการคัดเลือกจากทางฟินแล็บทั้งสิ้น15 ทีมจากในหลากหลายอุตสาหกรรม”

ยูโอบี-เดอะฟินแล็บ ลุยสมาร์ทบิสิเนส ดัน SMEsโตไกลอาเซียน

    ทั้งนี้โซลูชันที่นำมาให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้นมีการคัดเลือกมากว่า 350 โซลูชันจากการรับฟังความเห็นและปัญหาที่ต้องการแก้ไขจากผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ด้วยการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ซึ่งโซลูชันที่นำมาให้บริการมีทั้งของในและต่างประเทศ ที่จะเน้นไปที่การทำตลาดแบบ B2C การบริหารจัดการสต๊อกเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน

     สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ 1.Open หรือการเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เปิดใจทดลองทำในสิ่งใหม่ และเปิดใจที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ 2. Able หรือสามารถที่จะทุ่มเททรัพยากรที่มีเพื่อเข้าร่วมโครงการ ทั้ง เวลา กำลังคน หรือทุนทรัพย์ และ 3. Willing คือ ผู้ประกอบการต้องมีใจพร้อมที่จะเห็นธุรกิจตัวเองมีการพัฒนา อะไรก็ตามที่มาจากใจสิ่งนั้นถึงจะมีความยั่งยืน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้กระแสตอบรับของผู้ประกอบการหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ มีความเห็นว่าโครงการดังกล่าว ช่วยให้มองเห็นภาพรวมหรือเฟรมเวิร์กในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมองเห็นทิศทางของธุรกิจในอนาคต ไม่ใช่มองแค่เพียงภาพในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งปัจจัยของความสำเร็จที่จะเป็นตัวชี้วัดคือ การที่มีโซลูชันเข้ามาช่วยทำให้กระบวนการต่างๆในการบริหารจัดการลดลง ใช้ระยะเวลาลดลง ประหยัดเงิน เวลาและกำลังคนตรงนี้จะทำให้การบริหารจัดการธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่เป็นจุดกำเนิดแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากประเทศไทยมีเอสเอ็มอีจำนวนมาก อีกทั้งปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ต้องเกิดจากความกระตือรือร้นของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ

     นายเฟลิกซ์ ตัน กล่าวต่อไปว่า “อยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกล้าที่จะคิดใหญ่ให้มากขึ้น อย่ามองแต่การทำธุรกิจในบ้านตัวเอง แต่ให้มองไปถึงการขยายไปสู่ระดับภูมิภาคอย่างในอาเซียน เนื่องจากประชากรในอาเซียนมีมากถึง 700 ล้านคน ซึ่งตอนนี้เริ่มมีผู้ประกอบการไทย อย่าง อาร์ทตี้ กรุ๊ป,วอริกซ์ ที่เริ่มมีการขยายไปสู่ตลาดอาเซียนแล้ว”

   อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จในประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วม 7 รายและบริษัทท่องเที่ยว 4 ราย รวม 11 ราย ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งประเทศไทยมีความคล้ายถึงกันในแง่ของการมีเอสเอ็มอีจำนวนมาก หลังจากนี้ฟินแล็บต้องการที่จะสร้างคอมมิวนิตี ระหว่างชุมชนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและชุมชนผู้ให้บริการโซลูชัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ผู้ประกอบการเลือกใช้งานโซลูชันจากคอมมิวนิตีของผู้ให้บริการเทคโซลูชัน ซึ่งผู้ให้บริการโซลูชันก็สามารถมองการขยายการเติบโตไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างประเทศได้ ฟินแล็บก็จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก

บทสัมภาษณ์โดย : ภาพิมล ธนรุ่งเจริญกิจ

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3520 ระหว่างวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2562