เตรียมทำมาร์เก็ตซาวดิ้งใหม่หลังไร้เงาเอกชนยื่นPPPดิจิทัลพาร์ค

06 มิ.ย. 2562 | 07:25 น.

    ปลัด"ดีอี"เผยผลประโยชน์ไม่จูงใจ บิ๊กทุนไทย-เทศ 16 รายถอยไม่ร่วมยื่นซองประมูล "อีอีซีดี" เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

  นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย  ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับกรณีที่เอกชนจำนวน 16 ราย ไม่ยื่นซองข้อเสนอ ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมาจนทำให้กระบวนการ “ล่ม” ว่า เนื่องจากเงื่อนไขทีโออาร์ ของโครงการนี้รายละเอียดเงื่อนไขรัดกุมเกินไปจนทำให้ผู้ประกอบการที่ซื้อซองไปเกิดความกังวลใจจึงเป็นที่มาที่เอกชนไม่ยื่นซองครั้งนี้

 ขั้นตอนหลังจากนี้จะจัดสัมมนาทบทวนและสำรวจความสนใจของ ผู้ประกอบการเอกชน (Market Sounding) เข้ามาร่วมรับฟังพร้อมทั้งข้อเสนอแนะภายในเดือนมิถุนายนนี้

“โครงการยังเดินหน้าต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นต้องปรับปรุงแก้ไข ในเดือนนี้จะจัดทำมาร์เก็ต ซาวด์ดิ้ง นำข้อเสนอไปปรับปรุงออก ทีโออาร์ ใหม่ ถัดจากนั้นให้เอกชนยื่นซองประมูลน่าจะล่าช้าออกไปอีก 3 เดือน”นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าว

เตรียมทำมาร์เก็ตซาวดิ้งใหม่หลังไร้เงาเอกชนยื่นPPPดิจิทัลพาร์ค

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงดีอี กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุที่เอกชนไม่สนใจยื่นข้อเสนอเนื่องจากทีโออาร์ไม่ดึงดูดความสนใจโดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ยังไม่สมเหตุสมผล

   “เงื่อนไขทีโออาร์เข้มข้นเกินไปน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่สำคัญช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำให้เอกชนกังวลใจด้วย”

   ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากเงื่อนไขทีโออาร์ที่เอกชนมีความกังวลใจยังมีเรื่องรอยต่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงไม่มีใครกล้ายื่นซองประกวดราคา

  หลังจากนี้จะมีการจัดทำมาร์เก็ตซาวดิ้งอีกครั้งหนึ่งและนำเสนอต่อรัฐบาลฯให้รับทราบ เนื่องจากโครงการ EECD รัฐบาลชุดที่แล้วโปรโมทเยอะมากและนักลงทุนต่างชาติสนใจ

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านั้น โครงการนี้ได้เลื่อนเปิดและปิดรับซองข้อเสนอจากเดิมวันที่ 24 เมษายน 2562 มาเป็นวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา  เพื่อเลือกเอกชนร่วมพัฒนาโครงการบนเนื้อที่ 500 ไร่ งบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยมีเอกชนยื่นแสดงความจำนงมาแล้ว 16 ราย อาทิ กลุ่มนวนคร, ซีพีแลนด์,บ้านปู,อีสท์วอเตอร์ กรุ๊ป , บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน), ผลิตไฟฟ้าราชบุรี, บริษัท ดิจิตอล ปาร์ค ดีเวลลอปเม้นท์ เอเจนซี่, บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด(มหาชน) ,บจก. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง, China Railway Construction Corporation Ltd. , China Communications Construction Company Ltd., NISSEI BUILDKOGYO Co., LTD