ใหญ่ฟัดใหญ่ หลังคลื่น 900MHz เปลี่ยนมือ AIS ปะทะ TRUE ชิง 4 แสนลูกค้า

17 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
เป็นเพราะอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต แต่ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เดิมคลื่นความถี่ดังกล่าว บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้สัมปทานจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558

[caption id="attachment_38503" align="aligncenter" width="700"] ข้อเสนอ 2 ค่ายมือถือป้องกัน ซิมดับ ข้อเสนอ 2 ค่ายมือถือป้องกัน ซิมดับ[/caption]

หลังจากนั้น กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ในฐานะมีสิทธิ์ตามกฎหมายในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้นำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ออกมาประมูลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้ผู้ชนะประมูล 2 ราย คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ

หากแต่คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ กำลังกลายเป็นศึกระหว่าง เอไอเอส และ ทรูมูฟ เอช ไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อ ทรูมูฟ เอช ได้ชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 8.602 พันล้านบาท พร้อมวงเงินค้ำประกันจากสถาบันการเงินอีก 7.3 หมื่นล้านบาทให้กับ กสทช.เมื่อวันที่ 11 มีนาคม และ กสทช. ได้มอบใบอนุญาตการใช้งานคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ กสทช.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

 ชิงลูกค้า 4 แสนราย

การเปลี่ยนมือของคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ กำลังกลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่าง เอไอเอส กับ ทรูมูฟ เอช เนื่องจากว่าจำนวนลูกค้าของ เอไอเอส ที่ยังอยู่บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ขณะนี้มีจำนวน 4 แสนราย ที่ยังไม่ย้ายออกจากระบบ และเอไอเอส ได้ยื่นข้อเสนอไปยัง กสทช. ในฐานะเป็นตัวกลางบริหารจัดการในเรื่องนี้ โดยยื่นข้อเสนอไปแล้ว 3 ข้อ (ดูตารางประกอบ)

เหตุผลที่ เอไอเอส ต้องยื่นข้อเสนอไปยัง กสทช. เพื่อทอดระยะเวลาออกไปให้ลูกค้าย้ายเข้ามาในระบบทั้งหมด แต่สุดท้าย กสทช.ออกมายืนยันว่าไม่สามารถที่จะต่อมาตรการเยียวยาออกไปได้อีก เนื่องจากตามกฎหมายระบุว่า หากผู้ชนะประมูล คือ ทรูมูฟ เอช ได้ชำระค่าใบอนุญาตพร้อมกับแบงก์การันตีของสถาบันการเงินแล้ว กสทช. ต้องออกใบอนุญาตภายใน 3 วัน ให้กับ ทรูมูฟ เอช ดังนั้น ลูกค้า 900 ของ เอไอเอส ที่ยังไม่ย้ายออกไปก็จะเกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ หรือ "ซิมดับ"

 "ทรูมูฟ เอช" ใช้ฟรีถึงสิ้นพ.ค.

ถ้าจำกันได้วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แถลงข่าวที่สำนักงาน กสทช. หลังจากชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกว่า "ในช่วงระหว่างที่เครือข่าย ทรูมูฟ เอช ยังติดตั้งไม่แล้วเสร็จในช่วงเวลานี้ และลูกค้า 900 ยังไม่ย้ายออกจากระบบทั้งหมด ทรูมูฟ เอช ขอเสนอให้คลื่นความถี่จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้งานฟรีจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 เวลานี้เราอย่าคิดถึงเรื่องแพ้ชนะอยากให้ทุกฝ่ายพักเรื่องของการแข่งขันน่าจะมาดูแลลูกค้าหลายล้านคนจะดีกว่า" นั่นคือคำบอกเล่าของ "ศุภชัย"

การประกาศให้ใช้ฟรีในวันนั้นแม้แต่ ผู้บริหารของ กสทช.ก็ยังไม่ทราบเรื่องนี้แต่อย่างใด การเปิดเกมของ "ศุภชัย" ในครั้งนั้นหลายคนตั้งคำถาม "ใจปล้ำ" มาก

 ทำหนังสือค้าน

ส่วนทาง เอไอเอส ในฐานะเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมมือถือและมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องไม่ให้เกิด "ซิมดับ" ก็เลือกเอาวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2559 เปิดแถลงข่าว " เอไอเอสยืนยัน มุ่งมั่นดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกค้าทุกท่านใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง"

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอไอเอส ออกมาชี้แจงว่า ในฐานะผู้ให้บริการ เอไอเอส ทราบดีถึงช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของประเทศไทย ดังนั้นตั้งแต่ก่อนสิ้นสุดสัญญาการร่วมงานบนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จึงสื่อสารให้ลูกค้าทราบถึงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจาก 2 จี สู่ดิจิตอล อย่าง 3จี หรือ 4 จี ตามนโยบายรัฐ โดยประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่คงค้างอยู่ในระบบ 2 จี ที่ใช้ 900 MHz โอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ หรือเปลี่ยนเครื่องจาก 2G เป็นเทคโนโลยี 3G/4G อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน"

"แม้ว่าเราได้ทำการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างเข้มข้นแล้วก็ตาม ปัจจุบันก็ยังคงเหลือลูกค้าที่ใช้เบอร์ในระบบ 2G 900 เมกะเฮิรตซ์ ของ เอไอเอส อีกราว 4 แสนเลขหมาย และลูกค้าเอดับบลิวเอ็น หรือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่ยังคงถือเครื่องมือถือ 2 จี อีกประมาณ 7.6 ล้านเครื่อง และเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ทรูมูฟ เอช ผู้ประมูลได้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ในช่วงที่ 2 ได้เข้ามาชำระค่าใบอนุญาต และส่งผลให้ กสทช. จะสั่งให้ปิดบริการคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ เอไอเอส เคยใช้งานอยู่ อันจะทำให้ลูกค้าที่ยังคงใช้งาน 2 จี บนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาเพียงพอในการเปลี่ยนเครื่อง ซึ่งในวันเดียวกันนั้น บริษัทได้ทำหนังสือไปยัง กสทช. คัดค้านมติที่ไม่อนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาของมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการออกไป"

ด้วยเหตุผล คือ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุด สัมปทานหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ในข้อ 9. ได้ระบุว่า "...เมื่อคณะกรรมการได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่แล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดวันหยุดให้บริการ ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครอง..." เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตรายใหม่ที่จะมีสิทธิใช้คลื่นความถี่อย่างปราศจากการรบกวน ซึ่งกรณีนี้ เอไอเอส ได้แจ้ง กสทช.ว่า ขอให้บริการต่อไป โดยใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ในชุดที่ 1 ซึ่งยังว่างอยู่ อันจะไม่ถือเป็นการริดรอนสิทธิผู้ได้ใบอนุญาตในชุดที่ 2 รวมถึงมติของกสทช. ก็ถือว่าขัดต่อประกาศ กสทช.เอง ที่ต้องมีความต่อเนื่องในการให้บริการ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไม่มีข้อจำกัดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดสัมปทาน

 ขอใช้คลื่น "แจส"5 เมกะเฮิรตซ์

ในระหว่างการขยายมาตรการคุ้มครองฯออกไปอีกระยะหนึ่งนั้น บริษัทยังคงนำส่งรายได้ให้แก่รัฐ ตามหลักเกณฑ์ของประกาศคุ้มครองเช่นเดิมทุกประการ ซึ่งหาก กสทช.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางขยายมาตรการเยียวยาต่อไปอีก บริษัทจึงได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยขอให้กสทช. พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้บริษัท ยังคงให้บริการแก่ลูกค้าบนคลื่น 900 MHz ต่อไปอีก อย่างน้อยประมาณ 3 เดือน (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559) เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และยังคงมีระยะเวลาเพียงพอที่จะอัพเกรดเทคโนโลยีด้วยการโอนย้ายออกไปยังผู้บริการรายใหม่ตามที่ลูกค้าต้องการ

โดยบริษัทจะใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ช่วงที่ 1 ในจำนวนเพียง 5 เมกะเฮิรตซ์ (เป็นช่วงความถี่ 895-905 เมกะเฮิรตซ์คู่กับ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะการประมูลแต่ยังไม่ชำระเงินงวดแรกครบกำหนดวันที่ 21 มีนาคมนี้) ซึ่งขณะนี้ยังว่างอยู่ และลูกค้าเอไอเอสก็ใช้งานอยู่ในความถี่ช่วงที่ 1 โดยบริษัทยินดีชำระค่าใช้งานคลื่นความถี่ให้แก่ กสทช.เพื่อนำส่งเป็นรายได้ให้แก่ประเทศต่อไป

 อย่าตกใจ “ซิมดับ” มาแลกซิมใหม่พร้อมค่าโทร.

ด้านนายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาดเอไอเอส กล่าวเสริมว่า กรณีที่ทาง กสทช.ปฏิเสธข้อเสนอของเอไอเอสในการดูแลลูกค้าช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาเป็นใบอนุญาต เพื่อไม่ให้กระทบการใช้งานของลูกค้า 2 จี ว่าทางเอไอเอสมีการเตรียมมาตรการไว้ว่า ลูกค้าในกลุ่ม 4 แสนรายที่ซิมดับ สามารถนำซิมที่ดับเลขหมายเดิมมาแลกซิมใหม่เบอร์ใหม่พร้อมรับเครื่อง 3จี หรือ 4จี แถมค่าโทร.ฟรี 50 บาท ได้ที่ศูนย์บริการเอไอเอส เทเลวิซ เอไอเอสบัดดี้ รวมถึง อบต.เทศบาลทั่วประเทศได้จนถึงสิ้นเดือน พฤษภาคม

 ทุ่ม 4 หมื่นล.ขยายเครือข่าย 3-4 จี

อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น เอไอเอส ได้จัดเครื่องทดแทนให้ฟรี สำหรับลูกค้าที่ยังคงถือเครื่อง 2 จี ให้อัพเกรดเทคโนโลยีเปลี่ยนเป็น 3 จี หรือ 4 จี ซึ่งวันนี้ลูกค้ายังคงสามารถจองเครื่องและรับเครื่องได้ฟรี ณที่ทำการ อบต. และเทศบาลทั่วประเทศให้ลูกค้าที่ยังถือเครื่อง 2 จี สามารถใช้งานบนเครือข่ายของดีแทค ที่เอไอเอสได้เจรจาความร่วมมือโรมมิ่งจำนวน 8ล้านเลขหมายไว้เรียบร้อยแล้ว โดยลูกค้าไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม และเอไอเอสเดินหน้าขยายเครือข่าย 3 จี และ 4 จีอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

เรื่องนี้กลายเป็นศึกช้างชนช้างซะแล้ว เพราะเอไอเอส เป็นเบอร์หนึ่งในตลาด ขณะที่ ทรูมูฟ เอชเองก็ใหญ่ไม่แพ้กันที่สำคัญมีคลื่นความถี่ทั้ง 850-1800-2100 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะอีกฝ่ายต้องการรักษาแชมป์ แต่อีกฝ่ายต้องการ “ล้ม” แชมป์ เรียกได้ว่าแข่งกันดุเสียเหลือเกิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559