'นครแห่งน้ำ' พลิกวิกฤติเป็นโอกาสที่บอสตัน

19 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการละลายของภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้โลกสุ่มเสี่ยงกับภาวะน้ำท่วมได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่าชายฝั่งทะเลทั้งหลาย รวมทั้งเมืองบอสตัน ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา

[caption id="attachment_38797" align="aligncenter" width="500"] นครแห่งน้ำ นครแห่งน้ำ[/caption]

ด้วยความตระหนักถึงความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมโดยเฉพาะในฤดูที่มีพายุจากมหาสมุทร ทำให้มีการระดมความคิดนำเสนอแบบร่างของเมืองบอสตันในอนาคตภายใต้ชื่อโครงการ HydroUrbanism หรือนครแห่งน้ำ ซึ่งไม่ได้มองเพียงว่า น้ำทะเลหรือภาวะน้ำท่วมเป็นภัยแต่เพียงมิติเดียว แต่ในทางกลับกัน โจทย์โครงการมองว่า "น้ำ" ที่มีมวลมหาศาล อาจจะกลายเป็นข้อดีหรือสร้างประโยชน์ให้แก่วิถีชีวิตคนเมืองได้เช่นกัน ซึ่งนั่นต้องอาศัยการออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรมชายฝั่งให้สามารถนำปริมาณลมและน้ำในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็ป้องกันภัยจากน้ำและลมให้ส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตผู้คนให้น้อยที่สุด

บริษัทออกแบบพอล ลูเคตซ์ อาร์คิเทค (พีแอลเอ) จัดทีมงานออกเป็นหลายส่วนเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เมืองบอสตันเผชิญอยู่อย่างรอบด้านเพื่อนำผลมาตีโจทย์และออกแบบ ทั้งนี้ บอสตันเป็นเมืองที่มีน้ำล้อมถึง 3 ด้าน จึงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่หากออกแบบให้ดีก็สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำทะเลที่สูงขึ้นเช่นกัน จุดศูนย์กลางโครงการนี้อยู่ที่เขตโคลัมเบีย พอยต์ ที่ทีมงานต้องการปรับภูมิทัศน์และเพิ่มสิ่งปลูกสร้างที่สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมและเป็นโจทย์ที่ท้าทายเนื่องจากมีลักษณะคล้ายแหลมที่ยื่นลงไปในทะเลและมีหน้าหาดที่ยาวถึง 3 ด้าน

[caption id="attachment_38807" align="aligncenter" width="500"] นครแห่งน้ำ นครแห่งน้ำ[/caption]

โครงการนี้เน้นการใช้พลังงานจากธรรมชาติทั้งจากแสงแดด แรงลม และกระแสคลื่นเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้จะมีการออกแบบผังเมืองใหม่แต่ก็ยังคงรักษาความเชื่อมโยงกับอาคารบ้านเรือนและชุมชนเมืองเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว องค์ประกอบใหม่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะได้แก่ คลองรับน้ำ (ทะเล) เข้ามาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการทำทางน้ำเข้ามาเก็บไว้ยังแอ่งรับน้ำ

งานนี้แม้จะยังเป็นขั้นตอนของการนำเสนอแนวคิด แต่ก็เป็นก้าวแรกและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเมืองบอสตันในการเตรียมตัวพัฒนาเมืองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างน้อยโครงการ HydroUrbanism นี้ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การวางแผนและออกแบบที่ดีสามารถพลิกผันให้สิ่งที่มีโทษภัยกลายเป็นคุณประโยชน์ได้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559