เตรียมตัวรับ ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล'ไอซีที'ดันร่างฯเข้าสู่ สนช.มีนาคมนี้

04 มี.ค. 2559 | 01:30 น.
นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เตรียมนำร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล ทุกฉบับเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช. เพราะก่อนหน้านี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปจะนำร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการพิจารณา

เนื่องจากว่า คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย (พ.ศ.2559-2561) อย่างเป็นทางการไปแล้ว

[caption id="attachment_34905" align="aligncenter" width="700"] ร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล[/caption]

 ดัน 2 กฎหมาย

หลังจากนี้เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อบรรจุใน สนช.แล้วจะต้องเกิดคำถามและทักท้วงไม่มากก็น้อย เพราะก่อนหน้านี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการท้วงติงอย่างหนักโดยเฉพาะกรณีให้อำนาจผู้ที่เกี่ยวข้อง "ล้วงตับ" ข้อมูลส่วนบุคคลได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีที เตรียมนำร่าง พ.ร.บ.จำนวน 2 ฉบับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสนช. คือ ร่าง.พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8 ร่างเข้าไปพิจารณา โดยร่างฉบับแรกที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช. คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..)พ.ศ... ส่วนอีกหนึ่งร่างนั้น คือ พ.ร.บ.ปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) อยู่ในสภาเรียบร้อยแล้วซึ่งร่างฉบับนี้ช่วงที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทาง สนช.ชลอไว้ก่อนเพื่อให้ ครม.ชุดใหม่ทบทวน

" พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อมีการตรวจสอบแล้วเสร็จจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าครม. และหลังจากนั้นจะเข้าไปยัง สนช."

 ร่างพ.ร.บ.ส่วนบุคคลฯอยู่ระหว่างทบทวน

ขณะที่ ร่างพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้นายอุตตม กล่าวว่า กรอบของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของทุกประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ... และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.... ทั้งสองเรื่องนี้อยู่ระหว่างการทบทวนและกระทรวงไอซีที เตรียมจะทำประชาพิจารณ์

 วงการไซเบอร์เฝ้าจับตา

หลังจากมีกระแสข่าวว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป กระทรวงไอซีที จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจทัลฯ เข้าสู่สภา บรรดเครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ออกมาโพสต์ข้อความว่า "อย่าลืมฉัน! ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล-มั่นคงไซเบอร์ เข้า สนช.ภายในมี.ค.นี้"

 เพิ่มบทลงโทษเนื้อหาความมั่นคง

ไม่เพียงเท่านี้ในเว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้เขียนรายละเอียดว่า ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ร่างใหม่จากกฤษฎีกา - เพิ่มมาตรา 14/1 เพิ่มบทลงโทษเนื้อหาด้านความมั่นคง-ตื่นตระหนก ทำให้ยังเปิดช่องให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่าง

ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ร่างใหม่จากกฤษฎีกา - คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่เป็นอิสระ มีแนวโน้มทำงานคุ้มครองไม่ได้จริง เนื่องจากทำงานใต้โครงสร้างกระทรวงและต้องพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอย่างมาก (ตามมาตรา 16) นอกจากนี้กรรมการยังมาจากหน่วยงานรัฐในสัดส่วนสูง ทำงานไม่เต็มเวลา และอาจมีประโยชน์ขัดกัน

ส่วนร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ - ยังไม่มีร่างใหม่ให้ประชาชนเห็น ทั้งที่ใกล้ส่งเข้า สนช.แล้ว

 ลัดขั้นตอน

นอกจากนี้แล้วเครือข่ายพลเมืองเน็ตยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ที่ผ่านมามีการจัดตั้งคณะทำงาน-จัดซื้อเครื่องมือดักรับข้อมูลจริง เช่น กระทรวงไอซีทีแต่งตั้งคณะทำงานทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ ประสานงานกับ International Internet Gateway เพื่อหาทางดูข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสลับ (คำสั่งก.ไอซีที ที่ 163/2557 15 ธ.ค. 2557) เอกสารยืนยันจากผู้ผลิตว่าผลิตภัณฑ์ควบคุมและดักรับข้อมูลกำลังถูกจัดส่งมาประเทศไทย (Hacking Team, มิ.ย. 2558) และปอท.ประกาศจัดซื้อระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ (19 ม.ค. 2559) ร่างมาตรา 33, 34, และ 35 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์จะช่วยให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ถูกกฎหมายสะดวกขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลมีแนวโน้มจะลัดข้ามกระบวนการตรวจสอบ เช่น คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ขอให้กูเกิลพิจารณาลบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบความมั่นคง โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล

หลังจากนี้ต้องจับตากันต่อไปว่าร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัลฯ เมื่อเข้าสู่ชั้น สนช.แล้วจะถูกกระแสต่อต้านจากเหล่าพลเมืองเน็ตมากน้อยเพียงใด

แม้ "อุตตม" เคยออกมาพูดว่าคำว่า "Single Gateway" ลืมไปแล้วและรัฐบาลไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐบาลจะออกกฎระเบียบต้องดูมาตรฐานโลกเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559