‘ทีโอที-แคท’ เริ่มเห็นแสง แนะเอาคลื่นออกมาสร้างมูลค่า

26 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
เป็น 2 ใน 7 รัฐวิสาหกิจ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เร่งฟื้นฟู โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ดไปบริหารจัดการในเรื่องนี้แต่ในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ยกเลิกเกณฑ์การให้ใบเหลือง-แดง แก่รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากสามารถบริหารจัดการได้ดี ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท มีโผรายชื่อติดอยู่ในนั้นด้วย

[caption id="attachment_33169" align="aligncenter" width="376"] อุตตม สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[/caption]

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บมจ.ทีโอทีสามารถลดค่าใช้จ่ายถึง 1.7 หมื่นล้านบาทจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 6.8 พันล้านบาท ขณะที่ แคท ทำได้ดีในเรื่องการแยกหน่วยงานธุรกิจ หรือ Business Unit ที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีในฐานะหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งเกี่ยวกับอนาคตของทีโอทีและแคท หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้

 อนาคตของทีโอที และ แคท

พอเห็นแสงแล้วในตอนนี้ แม้สัญญาสัมปทานหมดลงแต่ไม่เป็นไรเพราะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความ ทีโอทีกับแคท จะแย่ไปเลยจึงเป็นที่มาของแผนฟื้นฟูธุรกิจ โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีค่ามหาศาล อย่างเช่น เสารับ-ส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เอกชนได้ส่งมอบหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานนำทรัพย์สินเหล่านั้นออกมาให้เช่า ถ้าเกิดไม่นำทรัพย์สินเหล่านั้นออกมาให้เช่าเมื่อสัมปทานหมดไปแล้ว จะบริหารจัดการอย่าง ตอนนี้เสาส่งสัญญาณที่มีอยู่ของทั้งสองรัฐวิสาหกิจนั้นสามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้หมด เพียงแต่สองหน่วยงานต้องดิ้นรนหาลูกค้าเข้ามาให้มากขึ้น

 เสามีกี่ต้น

เสารับส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้งทีโอทีและแคท มีอยู่ 3 หมื่นกว่าต้น และไม่รวมไฟเบอร์ออฟติกวางครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงแต่เสาเท่านั้น แต่ทีโอทียังมีคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 62 เมกะเฮิรตซ์ และแคทมีคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์

ซึ่งคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ กระทรวงไอซีทีได้ไปเจรจาและประสานกับ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้ขยายขอบเขตเพื่อยกระดับการใช้เทคเทคโนโลยีและคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์เหมาะกับการใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังได้รับความนิยม ส่วนคลื่นความถี่ 900 ส่งสัญญาณได้ไกลเหมือนกัน แต่คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ส่งสัญญาณได้ไกลมากกว่า เพราะฉะนั้นการติดตั้งเสาส่งสัญญาณต้องมีคุณภาพมากขึ้น

"ทีโอทีและแคทมีของอยู่ในมือแล้วจะนำของที่มีอยู่มาพัฒนาอย่างไร ผมก็ได้ให้โจทย์ไปแล้ว"

 เปิดคลื่นมือถืออีกย่านเลยได้หรือเปล่า

ผมได้มอบหมายให้ทีโอทีมาปรึกษารูปแบบให้เหมาะสมก่อนว่า ทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดสามารถบริหารจัดการในรูปแบบใดให้ได้ผลประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด เพราะคลื่นความถี่ที่ทีโอทีมีอยู่ในขณะนี้ใช้ได้หลายอย่าง เช่น นำคลื่นที่มีอยู่นำไปใช้กับโครงการยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ก็ได้โดยนำคลื่นความถี่ดังกล่าวแบ่งมาใช้งานในบางส่วนสามารถทำได้อยู่แล้ว ส่วนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ขณะนี้ทีโอทีก็กำลังจะทำกับเอกชน

 2100 เมกะเฮิรตซ์อนุมัติให้ เอไอเอส หรือยัง

สัญญายังไม่เสร็จ ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังตรวจสอบรายละเอียดอยู่ อะไรที่รัฐวิสาหกิจไม่มีความชำนาญไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนทำเองทั้งหมด แต่ถ้าจะร่วมลงทุนกับเอกชน ทีโอที หรือแคทต้องได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสมจากทรัพย์สินที่ทั้งสองหน่วยงานมีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หวังว่าสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาได้ ส่วนเรื่องที่ประสบปัญหาการขาดทุนช่วงนี้ช่วยไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีรายได้จากสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้รับจากคู่สัญญา หรือเอกชนปีละ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่หมดลงไปแล้วทั้งสอหน่วยงานก็ต้องเตรียมตัวไว้ เพราะรับทราบข้อมูลล่วงหน้าแล้วว่า สัญญาสัมปทานจะหมดอายุลงเมื่อใด

"วันนี้ถือว่าไม่สายไป เริ่มมีการปรับตัวและสหภาพฯทั้ง 2 แห่ง (หมายถึง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) น่าจะเข้าใจเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่นำออกไปประมูลแล้วนั้น ทีโอทีก็เริ่มเข้าใจแล้ว เพราะรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนและช่วยเจรจาทั้งเรื่องคลื่นความถี่ 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ได้ทำการเจรจากับเอกชน ซึ่งกระทรวงไอซีทีได้สนับสนุนให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการภายใต้กรอบและเริ่มเห็นมีทางออกแล้ว"

 ทรัพย์สินฯ ที่กระทรวงลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาทต้องโอนหรือไม่

โครงการยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หรือการติดตั้งอินเตอร์เน็ตจำนวน 3 หมื่นหมู่บ้าน กระทรวงไอซีที ได้ใช้งบลงทุนจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อติดตั้งโครงข่ายแล้วเสร็จทรัพย์สินทั้งหมด ที่กระทรวงไอซีที เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลทั้งหมด

 บทบาทไม่ซ้อนกัน

ไม่..บทบาทชัดเจนอยู่รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนนโยบาย แต่อีกด้านหนึ่งไม่ขัดแย้งกัน เพราะเป็นหน้าที่ของการพัฒนาสร้างโครงข่ายพื้นฐานไอซีทีให้กับประเทศ ส่วนกระทรวงไอซีทีจะมอบหมายให้ใครเข้ามาบริหารจัดการในการติดตั้งระบบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในเรื่องนี้กระทรวงไอซีที ได้มอบหมายให้ แคทและทีโอทีทำหน้าที่ติดตั้งเครือข่ายทั้งหมด เพราะมีทรัพย์สินและมีความพร้อมที่จะลงทุนเนื่องจากมีโครงข่ายเดิมอยู่แล้ว

"เราทำตรงนี้ไม่ได้แข่งกับเอกชนเราวางถนนใหญ่ให้เอกชนเข้ามาเชื่อมต่อและเอกชนก็นำไปขายบริการในหมู่บ้านโดยไม่ต้องลงทุนเองทำให้ต้นทุนในการลงทุนถูกลงด้วยซ้ำไม่เช่นนั้นเอกชนต้องสร้างถนนใหญ่เอาเองซ้ำซ้อนกันหรือเปล่าไม่รู้ แต่ตอนนี้ถือว่า รัฐลงทุนเพื่อประชาชน"

 ค่าบำรุงรักษา

แปลงไว้ชัดเจน ในปีแรกให้แคทและทีโอทีรับผิดชอบค่าบำรุงรักษาและต่อไปอาจจะมีการจัดตั้งงบให้ และเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน รายได้ก็จะเข้ามา กองทุนมีทรัพย์สินและให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้โครงข่ายทำให้มีรายได้ที่เกิดจากการเช่าใช้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559