‘ไอซีที’ ผนึกกรมที่ดิน-ดาวเทียมจุฬาภรณ์ สร้างเครือข่ายข้อมูลลดความเสี่ยงภัยพิบัติ

22 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
กระทรวงไอซีที จับมือกรมที่ดินและสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์บูรณาการข้อมูลการเตือนภัยหวังลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หวังให้สอดคล้องกับกรอบความคิดข้อตกลงเฮียวโกะ และข้อตกลงเซนได

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงไอซีที ลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงานเพื่อบูรณาการข้อมูลการเตือนภัย ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กับกรมที่ดิน และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ เนื่องจากการเตือนภัยล่วงหน้าเป็นภาระในความรับผิดชอบของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบนี้ภายใต้นโยบายและการกำกับของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และในกรอบการปฏิบัติของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเตือนภัยล่วงหน้าเป็นงานสำคัญอันดับแรก เพื่อจะเป็นการให้เวลาแก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้มีเวลาเตรียมตัวหรือดำเนินการตามแผนงานของแต่ละภาคส่วนในการรับมือกับภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้การดำเนินการเตือนภัยล่วงหน้าจะต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยที่กำลังจะเกิดหรือคาดว่าจะเกิดที่ครบบริบูรณ์และถูกต้องมากที่สุด รวมทั้งต้องเป็นข้อมูลที่ทันสมัยตามประเภทของภัยแล้วแต่กรณี เพื่อนำข้อมูลมาประเมินและวิเคราะห์ เพื่อตัดสินใจในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าตามกระบวนการต่อไป

น.อ.สมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การเตือนภัยล่วงหน้าจะมีความถูกต้อง ชัดเจน ทันเวลาหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับข้อมูลสารสนเทศที่ใช้ในการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์เป็นสำคัญ ข้อมูลดังกล่าวเกือบทั้งหมดมีหลากหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของข้อมูลและบางข้อมูลมีลักษณะอยู่ในชั้นของความลับหรือเกี่ยวกับความมั่นคง การใช้ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องมีความระมัดระวัง และรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเป็นอย่างดี แม้ว่าหน่วยงานเจ้าของข้อมูลอาจต้องมีภาระในการบูรณาการข้อมูลเหล่านั้นกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ตาม ข้อมูลบางประเภทสามารถส่งหรือแลกเปลี่ยนได้ทันที บางข้อมูลมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่ได้ตกลงกันแล้วและบางข้อมูลมีข้อจำกัดโดยธรรมชาติของข้อมูลเองที่ต้องมีข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

"ดังนั้น การจัดให้มีการลงนามข้อตกลง ครั้งนี้ จึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการบูรณาการข้อมูลเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้าที่มีความสำคัญในบริบทของการบริหารการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับกรอบความคิดข้อตกลงเฮียวโกะ และข้อตกลงเซนได ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับสากลโดยที่ผ่านมาศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้จึงได้มีการลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมกับกรมที่ดิน และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ และในโอกาสต่อไปจะได้มีการลงนามร่วมกับกรมสรรพกำลังกลาโหมด้วยนับเป็นเรื่องดี ที่การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านการเตือนภัยจะเป็นระบบที่จะประกันประสิทธิภาพของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และจะเป็นการสนับสนุนงานด้านเตือนภัยล่วงหน้าของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเสี่ยงของสิ่งแวดล้อมอีกต่อหนึ่งด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559