เปิด ‘อินสแตนต์อาร์ติเคิลส์’ ดีเดย์ 12 เม.ย. ดึงผู้ผลิตคอนเทนต์อัพเดตข่าวผ่านเฟซบุ๊ก

23 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
เฟชบุ๊ก ดีเดย์ประกาศเปิดให้บริการอินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ 12 เม.ย.นี้ ดึงสำนักข่าวทั่วโลกนำเสนอข่าวผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ยกระดับประสบการณ์การอ่านข่าว และเข้าถึงผู้อ่านอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น

นายจอช โรเบิร์ตส์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์อินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ บริษัทเฟชบุ๊ก อิงค์ฯ เปิดเผยว่าเฟซบุ๊กได้เตรียมเปิดให้บริการ อินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ กับสำนักข่าว ผู้ผลิตสื่อและคอนเทนต์ทุกราย ไม่ว่าจะเป็นขนาดไหนหรืออยู่ที่ใดในโลก ในงานประชุม Facebook F8 Facebook วันที่ 12 เมษายน 2559 โดยปัจจุบัน Facebook ทำงานร่วมกับสำนักข่าวหลายร้อยรายทั่วโลก เพื่อสร้างประสบการณ์การอ่านข่าวที่รวดเร็วกับผู้อ่านบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก โดยที่เฟซบุ๊กนั้นรับฟังข้อเสนอแนะจากสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงบริการอินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อเปิดให้บริการกับสื่อต่างๆ ในวงกว้างมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้อินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ เป็นการนำเสนอบริการการอ่านข่าวอันรวดเร็วแก่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก เพื่อแก้ปัญหาการดาวน์โหลดคอนเทนต์จากเว็บไซต์บนมือถือที่ใช้เวลานาน ซึ่งส่งผลให้การอ่านข่าวบนมือถือไม่ทันใจ โดยอุปสรรคดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงกับทั้งสำนักข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกราย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตบนมือถือยังไม่เสถียรมากนัก และจากการตระหนักถึงปัญหานี้ เฟซบุ๊กจึงตั้งเป้านำเสนอบริการอินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ ให้กับสำนักข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกราย และนำเสนอบริการดังกล่าวให้กับทุกสื่อ เพื่อให้สื่อต่างๆ สามารถยกระดับประสบการณ์การอ่านข่าว และเข้าถึงผู้อ่านได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้นบนเฟซบุ๊ก

โดยองค์กรเกี่ยวกับสื่อและสื่อมวลชนทั้งหลายเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับเฟซบุ๊กเป็นอย่างยิ่ง และ เฟซบุ๊ก ก็มุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับทั้งสำนักข่าวและผู้อ่านบนเฟซบุ๊ก เพื่อตอบสนองประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด และด้วยบริการอินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ สำนักข่าวต่างๆ จะสามารถควบคุมคอนเทนต์ รวมถึงข้อมูลและโฆษณาต่างๆ ทั้งหมดได้ด้วยตนเอง โดยสามารถลงโฆษณาและรับรายได้ทั้งหมดโดยตรง อีกทั้งยังติดตามผลการลงโฆษณาจากระบบมาตรวัดประสิทธิภาพของโฆษณาที่ใช้อยู่เดิม หรือเลือกเพิ่มช่องทางรายได้จากคอนเทนต์ ผ่านทาง Facebook Audience Network

นอกจากนี้ สำนักข่าวยังสามารถใช้ระบบการวิเคราะห์ผลบนเว็บไซต์ (Web-based analytics system) ที่ใช้บริการอยู่ เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้อ่านบทความ หรือให้บริษัทที่รับบริการในรูปแบบนี้โดยเฉพาะดำเนินการแทน อีกทั้งสำนักข่าวยังสามารถใช้เครื่องมือด้านมัลติมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและความพิเศษให้แก่บทความหรือคอนเทนต์ต่างๆ ซึ่งเปิดอ่านได้อย่างรวดเร็วบนเฟซบุ๊ก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าผู้อ่านจะอยู่ที่ใดของโลก

ทั้งนี้เฟซบุ๊กได้พัฒนาระบบจากเครื่องมือที่สำนักข่าวต่างๆ ใช้งานกันอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างง่ายบริการอินสแตนต์ อาร์ติเคิลส์ทำงานโดยใช้ระบบภาษาของเว็บไซต์ และต้องร่วมกับระบบการจัดการคอนเทนต์ของสำนักข่าวนั้นๆ โดยที่เฟซบุ๊ก ได้จัดทำเอกสารในรูปแบบมาตรฐานเปิด (Open Standard) ให้สื่อต่างๆ นำไปใช้ได้อย่างไม่ซับซ้อน และ เฟซบุ๊กสนับสนุนให้สำนักข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ที่สนใจ ศึกษารายละเอียด และเตรียมตัวสำหรับการเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกรายจะสามารถนำประสบการณ์การอ่านข่าวอันรวดเร็วและอินเตอร์แอกทีฟนี้ไปสู่กลุ่มผู้อ่านของตนเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559