โคโลราโดหนุนเทศบาลแปลงปฏิกูลเป็นพลังงาน

28 ม.ค. 2559 | 23:00 น.
[caption id="attachment_28537" align="aligncenter" width="500"] aaabioCNG3 human waste[/caption]

เมืองแกรนด์จังก์ชัน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐโคโลราโดประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังเป็นเมืองต้นแบบในด้านการนำสิ่งปฏิกูลที่เทศบาลจัดเก็บจากครัวเรือนประชาชนมาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทน สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงรถที่ใช้ในงานของทางการ

[caption id="attachment_28536" align="aligncenter" width="500"] human waste human waste[/caption]

สิ่งปฏิกูลจากร่างกายมนุษย์ หรือ human waste นั้นนับเป็นภาระของเทศบาลในการจัดเก็บมาทิ้งทำลายหรือบางแห่งก็นำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงพืชและดิน แต่ในระยะหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สิ่งปฏิกูลก็กลับกลายเป็นของมีค่าที่สามารถนำมาเข้ากระบวนการแปรสภาพให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือก๊าซไบโอมีเทนดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำมาเข้ากระบวนการพัฒนาคุณภาพก็สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงยานยนต์ ซึ่งกรณีของเมืองแกรนด์จังก์ชันนั้น ได้นำไปใช้กับรถของหน่วยงานเทศบาล เช่น รถเก็บขยะ รถกวาดถนน รถถมดิน รวมทั้งรถโดยสารประจำทาง จำนวนรวมประมาณ 40 คันเชื้อเพลิงดังกล่าวมาจากโรงบำบัดนํ้าเสียและปฏิกูลซึ่งในแต่ละวันสามารถแปรสภาพสิ่งปฏิกูลปริมาณ 8 ล้านแกลลอนเป็นก๊าซไบโอมีเทนเพื่อใช้กับยานยนต์ของหน่วยงานต่างๆ “ในอดีตเรามักจัดการกับขยะและสิ่งปฏิกูลด้วยการหมักในโรงงานบำบัดแล้วก็ปล่อยก๊าซที่เกิดขึ้นให้สลายไปเปล่าๆ ในอากาศ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เรามีกระบวนการนำก๊าซนั้นมาทำให้สะอาด ปรับคุณภาพ และพร้อมนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง” แดน โทเนลโล ผู้จัดการฝ่ายบำบัดนํ้าเสียและสิ่งปฏิกูลของเทศบาลแกรนด์จังก์ชันกล่าว

โครงการนี้ทำให้เทศบาลสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่อากาศได้ 60-80% (ด้วยการนำก๊าซจากสิ่งปฏิกูลมาผลิตเชื้อเพลิงยานยนต์แทนการปล่อยสู่อากาศ และจากการที่ยานยนต์เหล่านั้นใช้ไบโอมีเทนแทนการใช้นํ้ามันดีเซลและเบนซิน) ทางเทศบาลใช้เวลาพัฒนาโครงการนี้ 10 ปี ลงทุน 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราวๆ กว่า 100 ล้านบาท ปัจจุบันสามารถผลิตไบโอมีเทนได้วันละประมาณ 460 GGE (1 GGE = ปริมาณเทียบเท่า 1 แกลลอนเบนซิน) ขณะที่ต้นทุนผลิตต่อGGE อยู่ที่ 8 เซ็นต์ แต่ก๊าซที่ได้สามารถขายให้หน่วยงานยานยนต์ในราคา 1.50 ดอลลาร์ต่อ GGE จึงเป็นโครงการที่สามารถเลี้ยงตัวเองและเชื่อว่าจะคืนทุนได้ใน7 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559