ขีดเส้น 31 มี.ค.แยกทีโอที-แคท

10 มี.ค. 2561 | 12:06 น.
“ดีอี” ลั่น! ภายใน 31 มี.ค. 61 แยกโครงข่ายหลัก “ทีโอที-แคท” แล้วเสร็จพร้อมเดินหน้าสู่บริบทใหม่ “พิเชฐ” ยํ้าข้อดีลดการลงทุนซํ้าซ้อนธุรกิจเกิดความชัดเจน ขณะที่ ศาลปกครองกลาง รับฟ้องหลัง สร.กสท คัดค้านการแยกทรัพย์สินเหตุไม่เปิดให้ประชาพิจารณ์

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co) และ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co) ว่า ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ แผนแยกทรัพย์สินโครงข่ายหลักทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการแล้วเสร็จ ลำดับถัดไปก็จะเริ่มกระบวนการการทำงานได้อย่างเต็มที่

[caption id="attachment_132082" align="aligncenter" width="503"] พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี[/caption]

สำหรับผลดีของการแยกโครงข่ายหลักของ ทีโอที และ แคท คือ การลงทุนและการให้บริการไม่เกิดความซํ้าซ้อน อีกทั้งทำให้ 2 หน่วยงานได้มีจุดยืนขององค์กรที่มีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ โดย NGDC Co ซึ่งบริหารโดย แคท เน้นเรื่องโครงข่ายเคเบิลใต้นํ้า และ ดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่ NBN Co บริหารโดย ทีโอที ซึ่งเป็นบริการของบริษัทขายปลีกบรอดแบนด์ และ ให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP รายอื่นบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน (Open Access) และบริการค้าส่งโครงข่ายแบบ End-to-End แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่นในตลาด

อย่างไรก็ตามเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง รับฟ้องคดีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ สร.กสท เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คดีดำ ที่ 571/2561 เพื่อให้เพิกถอนการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) และ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co)

บาร์ไลน์ฐาน เหตุผลที่ สร.กสท ดำเนินการครั้งนี้ เนื่องจากว่าการโอนทรัพย์สินต้องจัดให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 (9) โดยให้มีความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเป็นอันดับแรก และต้องมีการกำหนดกิจการ สิทธิ์ หนี้ ความรับผิดชอบและทรัพย์สินที่จะโอนไป ให้มีขั้นตอนความชัดเจนโปร่งใส ซึ่งการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน และไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ คำสั่งกฎระเบียบ และ มติ ครม.ที่เกี่ยวข้องแต่ประการใด และการแยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายและบริการหลัก ออกไปจาก ทีโอที และ แคท ขัดต่อนโยบายและไม่มีประสิทธิภาพ แต่ทำให้ 2 หน่วยงานและบริษัทลูกอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐจะขาดเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ เพื่อสาธารณประโยชน์ของสังคมและการพัฒนาในพื้นที่ห่างไกล ที่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการใหม่ๆ เพราะหากไม่มีหน่วยงานรัฐ ถ่วงดุลราคาค่าบริการ และปล่อยให้เอกชนดำเนินกิจการจะเกิดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม ผู้ใช้บริการหรือประชาชนจะถูกเอาเปรียบ และที่สำคัญความมั่นคงของราชอาณาจักรไทยจะหายไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว