มธ.โชว์ “ซิท-ทู-สแตนด์”เก้าอี้อัจฉริยะปกป้อง-เสริมฟิตผู้สูงวัย

22 ก.ย. 2560 | 05:50 น.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดตัว “ซิท ทู แสตนด์” นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกาย ลุก-นั่ง ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง เพียงปรับระดับเก้าอี้ และแรงเสริมให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน จากนั้นจึงทำการฝึกลุก-นั่งอย่างสม่ำเสมอประมาณ 10 - 15 ครั้งต่อวัน โดยนวัตกรรมดังกล่าวประกอบด้วยการทำงานร่วมกันของ 3 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบพยุงน้ำหนัก ด้วยการเสริมแรงบริเวณเบาะนั่งเพื่อลดการออกแรงของผู้สูงอายุ ประกอบกับการดันลำตัวผู้สูงอายุให้สามารถลุกยืนได้ง่ายขึ้น 2. ระบบป้องกันเข่าทรุด ผ่านการติดตั้งสปริงเพื่อลดแรงกระแทกบริเวณข้อและเข่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถลุก-นั่งได้อย่างปลอดภัย

และ 3. ระบบวิเคราะห์สมดุลการทรงตัว ใช้ระบบการประเมินผลการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถลุก-นั่งได้ถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์ ทั้งนี้ นวัตกรรม “ซิท-ทู-สแตนด์” อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาตัวเครื่องให้มีรูปแบบที่สวยงาม และพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2560 ทั้งเริ่มนำเสนอภาครัฐ เพื่อขยายโอกาสให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศมีโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมที่จะฟื้นฟู รักษา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ดีขึ้น

tu1

ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจคือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะมาพร้อมปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ ทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของเครื่องออกกำลังกายสำหรับบุคคลทั่วไปนั้น จะเป็นหลักการใช้ “แรงต้าน” เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แต่ในทางกลับกัน เครื่องออกกำลังกายของผู้สูงอายุจะต้องใช้ “แรงเสริม” เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุให้สามารถเคลื่อนไหวได้

ในปัจจุบัน เครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่มีอยู่ในท้องตลาด และในศูนย์สุขภาพต่างๆ มีการใช้งานที่ลำบากและสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ หากใช้งานไม่ถูกวิธี ทีมนักศึกษา 6 คน จาก 2 คณะได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความชำนาญแบบบูรณาการ และพัฒนาขึ้นเป็น นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกาย ลุก-นั่ง สำหรับผู้สูงอายุ “ซิท-ทู-สแตนด์” จุดเด่น คือ ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายได้เอง และสามารถทำได้ทุกวัน นวัตกรรมดังกล่าวจึงกลายเป็น ตัวช่วยนักกายภาพบำบัด ที่มีประสิทธิภาพ

tu

นางสายรัก สอาดไพร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. หัวหน้าทีมนักศึกษาเจ้าของผลงาน “ซิท-ทู-สแตนด์” กล่าวว่า การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก จึงได้เริ่มคิดค้นเครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ โดยเริ่มจากการออกกำลังกายแบบพื้นฐานที่สุดของผู้สูงอายุคือ การลุก-นั่ง ขึ้นและลงจากเก้าอี้ และพัฒนาขึ้นมาเป็น “ซิท-ทู-สแตนด์” ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของ 3 ระบบ คือ
1. ระบบพยุงน้ำหนัก ด้วยการเสริมแรงบริเวณเบาะนั่งเพื่อลดการออกแรงของผู้สูงอายุ ประกอบกับการดันลำตัวผู้สูงอายุให้สามารถลุกยืนได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุสามารถปรับแรงเสริมได้ตั้งแต่ 20 – 80 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัว แล้วแต่ความแข็งแรง และความพร้อมของผู้ใช้งาน 2. ระบบป้องกันเข่าทรุด ผ่านการติดตั้งสปริงเพื่อลดแรงกระแทกบริเวณข้อและเข่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถลุก-นั่งได้อย่างปลอดภัย และ 3. ระบบวิเคราะห์สมดุลการทรงตัว ใช้ระบบการประเมินผลการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุเพื่อทราบว่า ผู้สูงอายุสามารถลุก-นั่งได้ถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์หรือไม่

tu2

การทำงานของนวัตกรรมเครื่องออกกำลังกาย ลุก-นั่ง สำหรับผู้สูงอายุ เริ่มจากการปรับความสูงของเก้าอี้ และแรงเสริมที่จะช่วยดันตัวขึ้น จากนั้นทำการรัดเข็มขัดบริเวณเอว และทำการออกกำลังกายโดยการลุก-นั่ง ใน 3 รูปแบบแล้วแต่ความเหมาะสม คือ แบบยืนสองขาพร้อมจับราว เพื่อฝึกกล้ามเนื้อแขน แบบยืนขาเดียว และยืนกอดอกโดยที่ไม่จับราว เพื่อฝึกกล้ามเนื้อเฉพาะขา โดยสามารถออกกำลังกายลุก-นั่ง วันละประมาณ 10 – 15 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้สูงอายุใช้เวลาลุก-นั่งนานกว่าปกติ อาจเสี่ยงต่อการล้มขณะก้าวเดินมากยิ่งขึ้น ควรฝึกลุก-นั่งอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณข้อ เข่าและขา ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

tu5

ทั้งนี้ นวัตกรรม “ซิท-ทู-สแตนด์” ใช้เวลาในการพัฒนากว่า 2 ปี และได้รับการการันตีด้วย 5 รางวัลจาก 3 เวทีประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ พร้อมทั้งผ่านการจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 70,000 บาท และคาดว่าเมื่อผลิตในเชิงพาณิชย์อาจมีราคาถูกลง 50 % ซึ่งมีราคาถูกกว่าเครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุในท้องตลาดถึง 3 เท่า และล่าสุด ทีมนักวิจัยได้เตรียมทดสอบการใช้งานจริงกับผู้สูงอายุ (Preclinical Test) ภายในศูนย์ผู้สูงอายุท่าโขลง จ.ปทุมธานี จำนวน 100 คน เป็นเวลา 3 เดือน

tu3

เพื่อเปรียบเทียบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อผู้ป่วย ระหว่างก่อนและหลังการทดสอบ โดยในระหว่างนี้จะเร่งทำการพัฒนาตัวเครื่องให้มีรูปแบบที่สวยงาม และพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2560 พร้อมๆ ไปกับนำเสนอภาครัฐ เพื่อขยายโอกาสให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศมีโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมที่จะฟื้นฟู รักษา และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ

นางสายรัก กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2563 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 12.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรรวม 66.0 ล้านคน (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งจะมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพในหลากรูปแบบ ทั้งอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต พาร์กินซัน อัลไซเมอร์ รวมถึงอาการบาดเจ็บจากการผ่าตัดบริเวณข้อหรือเข่า ฯลฯ ส่งผลให้มีปัญหาด้านการลุกยืน การทรงตัว และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หากร่างกายไม่ได้รับการกระตุ้นหรือออกกำลังกายอย่างเหมาะสมแล้ว จะยิ่งส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในบางรายอาจลุกลามจนเกิดแผลกดทับได้ เนื่องจากวัยดังกล่าวเมื่ออายุเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ปี ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะลดลงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ นางสายรัก กล่าวทิ้งท้าย

tu4

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว