“สจล.-หัวเว่ย-จีเอเบิล” ผนึกเดินหน้าพลิกโฉมสู่ Education 4.0

16 ก.ย. 2560 | 03:30 น.
เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกาศจับมือหัวเว่ย (HUAWEI) และจีเอเบิล (G-ABLE) ร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเตรียมสร้างระบบเครือข่ายสำหรับสถาบันการศึกษาที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วย 100G based Campus Core Network, SDN (Software-defined Network) for Campus and Data Center Convergence และ Educational Cloud Data Center in Container เดินหน้าพลิกโฉมการศึกษาไทยสู่ Education 4.0 เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนที่นักศึกษาสามารถบูรณาการความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม บนพื้นฐานโครงสร้างเทคโนโลยีเครือข่ายที่ครบวงจรที่สุด เร็วที่สุด และทันสมัยที่สุด ตั้งเป้าสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital University)” ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตบุคลากรคุณภาพแห่งอนาคตอย่างเต็มตัวภายใน 5 ปี

1 (3) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาก้าวไกลในปัจจุบัน ส่งผลให้สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะและผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ ออกมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้ทัดเทียมนานาชาติ ไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่อย่างในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 มหาวิทยาลัยถือเป็นหนึ่งใน “กุญแจสำคัญ” ที่สามารถช่วยให้นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้จริง สจล. ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จึงเดินหน้าปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อการสอนอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถที่จำเป็นและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตสำหรับเป็นต้นแบบการก้าวสู่การศึกษายุคใหม่ ภายใต้เป้าหมายการมุ่งเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลภายใน 5 ปี

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง สจล. หัวเว่ย และจีเอเบิลถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมวงการการศึกษาไทย โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่เพียงมีการนำร่องติดตั้งโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็ว ระดับ 100 กิกะบิต พร้อมเครือข่าย WiFi 3,000 จุดทั่วสถาบันฯ ซึ่งจะช่วยยกประสิทธิภาพการเรียนการสอนในรั้ว สจล. สู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ในทางปฏิบัติยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว อันสอดคล้องกับเป้าหมายและภารกิจของมหาวิทยาลัยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนยุค Education 4.0 ที่ความรู้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น โดยในอนาคตจะมีการเปิดสอนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนทางไกลจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับ สจล. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันตามแผนความร่วมมือยังจะมีการพัฒนา Software-defined network (SDN) และการพัฒนา ดาต้า คอนเทนเนอร์ (Data Container) แบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย รวมทั้งจัดตั้งห้องปฏิบัติการและสถาบันฝึกอบรมในขั้นต่อไปเพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีทักษะและความสามารถด้านดิจิทัลป้อนตลาดแรงงาน”

3 (6) นายสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า “โจทย์ที่สำคัญของการศึกษาในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล คือ ทำอย่างไรที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมต่อประสบการณ์ของบุคลากรภายในสถาบัน อาทิ นักศึกษา อาจารย์ และพนักงานทั่วไป ที่มองหาความสะดวก รวดเร็ว ให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสถาบันซึ่งเป็นหน้าที่ของกลุ่มบริษัทจีเอเบิลในฐานะ Agent of Digital Transformation ที่เป็นพันธมิตรกับทางสจล. มามากกว่า 20 ปี โดยทีมผู้เชี่ยวชาญของจีเอเบิลได้พิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ในการมองหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์กับสจล. อันได้แก่  แนวโน้มของเทรนด์เทคโนโลยี หรือ ดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ๆ  ความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเลือกใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับสจล. พร้อมร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม มีความคล่องตัวและใช้เวลาในการติดตั้งเทคโนโลยีที่มีความกระชับ ซึ่งเทคโนโลยีของหัวเว่ยสามารถตอบโจทย์ได้ครบ จึงเป็นที่มาความร่วมมือของสามขุมพลังผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบบเครือข่ายชั้นนำของโลกและของไทยในครั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรายึดมั่นจุดมุ่งหมายร่วมกันในเรื่อง Digital Transformation มองเห็นความสำคัญแบบเดียวกัน คือการปฏิรูปวงการการศึกษาไทยไปสู่ยุคดิจิทัล”

ด้าน นายจาง หลิน (เอิร์นเนส) ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การมาถึงของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทำให้ผู้คนและสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รูปแบบการเรียนการสอนอาจจะไม่จำเป็นจะต้องนั่งในห้องเรียนแบบเดิมอีกต่อไป นักศึกษาสามารถเรียนหนังสือที่ใดก็ได้ในเวลาใดก็ได้ การที่มหาวิทยาลัยมีระบบเครือข่ายหลังบ้านที่รองรับรูปแบบการศึกษาในโลกอนาคตทำให้เกิดโอกาสด้านการเรียนการสอนมากมายมหาศาล รวมไปถึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วยด้วยเหตุนี้เอง หัวเว่ยจึงนำเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่ดีที่สุดเข้ามาใน สจล. เพื่อเป็นสะพานที่เชื่อมต่อโลกการศึกษาไปสู่โลกดิจิทัล สร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสทางการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพการสอน